ปัญหาสิทธิและเสรีภาพผ่านการชุมนุมของภาคประชาชน จึงเป็นอีกโจทย์ที่หลายภาคส่วนอยากสะท้อนถึงรัฐบาลใหม่ หนึ่งเวทีน่าสนใจคือ การเสวนาเรื่อง บทเรียนจากท้องถนน : พรรคการเมืองกับนโยบายเสรีภาพการชุมนุม จัดโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนโยบาย
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ จากพรรคก้าวไกล เผยมุมมองพรรคก้าวไกลเชื่อมั่นว่า การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรัฐบาล จะเห็นได้จากการใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงกฎอัยการศึก เข้าดำเนินการต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แต่ละรัฐบาลมีการใช้เครื่องมือควบคุมการแสดงออกแตกต่างกัน ในส่วนของพรรคมีมติว่า ต้องพูดถึงฉันทามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน แต่มีไว้เพื่อคนกลุ่มหนึ่ง
พร้อมกันนี้ เสนอแนวทางออกจากความขัดแย้งคือนิรโทษกรรมทางการเมือง และคืนความยุติธรรมให้ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการรัฐประหารหลังปี 2557 มติของพรรคเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ
“การพูดถึงการนิรโทษกรรม เป็นประเด็นอ่อนไหว ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่า กระบวนการนี้ควรตัดเจ้าหน้าที่รัฐออกไปก่อน ส่วนแกนนำ ผู้ชุมนุม ให้ใช้สิทธิเข้ากระบวนการคัดกรองโดยกรรมการ อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมคือปลายทาง”
ด้าน นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ จากพรรคเพื่อชาติ ระบุ เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ไม่เสรีและเป็นธรรม จะเป็นประชามติที่อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. โดยพรรคยังให้ความสำคัญกับการผลักดันกฎหมายต้านรัฐประหาร พร้อมผลักดันเพิ่มเติมเดี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เช่น เสรีภาพในการชุมนุมทางออนไลน์ มองว่าคนในโลกออนไลน์ต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่มีการปิดกั้นเว็บไซต์จากรัฐบาล ไม่มีการติดตามตัว
ทั้งนี้ มองว่าสื่อก็เป็นปากเสียงให้ประชาชน สื่ออิสระจึงควรได้รับการคุ้มครองเท่าสื่อหลัก รวมถึงมีการจัดสรรพื้นที่และปกป้องสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม
สำหรับนโยบายนิรโทษกรรมเบื้องต้นยังไม่มี แต่จุดยืนพรรคคือการเคารพในสิทธิเสรีภาพ หากได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะผลักดันให้ออกกฎหมายนี้ เพราะประชาชนที่ไปชุมนุมโดยบริสุทธิ์ ควรได้รับการนิรโทษกรรม และผู้กระทำผิดต้องโดนลงโทษ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย ควรถูกลงโทษ ต้องมีการสอบสวนก่อน ถึงจะยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้ พรรคสนับสนุนการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมหรือผู้เรียกร้องที่เป็นประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองที่ถูกตุลาการภิวัตน์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในกระบวนการนี้ ต้องผ่านการพูดคุย ต้องเยียวยาผู้สูญเสียและถูกคุมขังด้วย
ขณะที่ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายการชุมนุม มีคนกล่าวไว้ว่า “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่” ต้องเท้าความไปที่การชุมนุม กปปส. ที่มีการลักหลับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเห็นว่าปัญหาบ้านเราที่ทำให้เกิดจุดร่วมของการชุมนุมไม่ใช่แค่เรื่องเผด็จการทหารเท่านั้น แต่เป็นเผด็จการที่เกิดจากการทุจริต คอร์รัปชั่นในระบบอุปถัมภ์และระบบรัฐสภา
ทั้งนี้ เสนอว่าการชุมนุมแต่ละครั้ง หากมีบุคคลที่มีความเข้าใจในการใช้กฎหมายเป็นแนวร่วม จะทำให้ก้าวย่างของการชุมนุมรัดกุมขึ้น เช่น การขอคำพิพากษาศาล ซึ่งแล้วแต่ว่าการชุมนุมนั้นจะหยิบยกประเด็นใดมาเป็นประเด็นหลัก และเมื่อมีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตา น้ำแรงดันสูง ไปจนถึงกระสุนยาง
รศ.นพ.เชิดชัย ตันศิรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า สิทธิของประชาชนควรจะเป็นประเด็นหลัก การลิดรอนสิทธิควรเป็นประเด็นรอง แต่รัฐธรรมนูญประเทศไทยกลับตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและถูกกระทำมาตลอด ทำให้มีช่องทางและวิธีการในการป้องกันการละเมิดสิทธิ รวมถึงการชุมนุมต้องยึดหลักการดูแล ไม่ใช่การควบคุม ใครกระทำความรุนแรง เช่น การเผาก็ต้องรับโทษทางกฎหมาย
“พรรคเพื่อไทยมีนโยบายตรงไปตรงมาว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องเห็นหัวประชาชน พรรคเองเชิญอาจารย์หลายท่านมาให้ความรู้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยถดถอย ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว และเผด็จการก็มีเครื่องมือที่สำคัญคือทหาร ภายหลังประชาชนเก่งขึ้น รัฐจึงต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งก็คือการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น”
ส่วน นายกิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ จากพรรคประชาชาติ กล่าวถึงนโยบายของพรรคในเรื่องสิทธิและเสรีภาพว่า ควรผลักดันประชาธิปไตย ขจัดอำนาจเผด็จการ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดตั้ง ส.ส.ร. มีการทำประชามติ ปฏิรูประบบราชการทั้งระบบสร้างกระบวนการยุติธรรม ลดดุลพินิจของศาล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ต้องอิสระและยึดโยงกับประชาชนจริง ๆ รวมถึงต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่สำคัญคือ การยุบพรรคต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะพรรคการเมืองถือเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ มองว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เหนือกฎหมาย เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ การชุมนุมก็ชอบธรรมเพราะถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งมีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงสนับสนุนให้ลงนามสนธิสัญญา ILO 87 (ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว) และ ILO 98 (ว่าด้วยการต่อรอง) สนธิสัญญาเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มอาวุธกับผู้ชุมนุม นอกจากนี้จะผลักดันให้รัฐสนใจสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
“สิทธิในการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนที่ติดตัวประชาชนมาแต่แรกและอยู่เหนือกฎหมาย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้น ไม่มีความผิด การนิรโทษกรรมก็เป็นไปได้ แต่อาจจะไม่สามารถพูดได้ว่ามีขอบเขตแค่ไหน แต่ว่าเราลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเช่นกัน” นายกิตติวัฒน์ ทิ้งท้าย.