ซึ่งชี้ให้เห็นปม “ทุจริตคอร์รัปชั่น” ว่าเป็นปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างประชาชน “ทุกภาค” สะท้อนตรงกันว่าสำคัญเป็น “อันดับหนึ่ง” รองมาคือการศึกษา ตามด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากมุมมองความคิดเห็น สรุป “สิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการแก้ไข” ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกได้หลายข้อพบว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ในจำนวน 20 ข้อเสนอเรื่องที่อยากให้แก้ไขทั้งหมด ดังนี้
- 1. แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
2. ดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตประชาชน - 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน/เงินกู้
- 4. ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม
- 5. ดูแลราคาพลังงาน
- 6. ปัญหาหนี้ครัวเรือน
- 7. พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน
- 8. ความผันผวนเศรษฐกิจโลก
- 9. ดูแลอัตราดอกเบี้ย
- 10. การแพร่ระบาดโควิด-19
- 11. ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
- 12. ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร
- 13. แก้ไขปัญหายาเสพติด
- 14. ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร
- 15. ความมีเสถียรภาพทางการเมือง
- 16. เร่งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน
- 17. มาตรการรองรับภัยพิบัติ
- 18. สร้างความสามัคคีและความสุข
- 19. ดูแลการมีงานทำ/สร้างงานสร้างรายได้
- 20. ยกระดับศัยกภาพของแรงงาน
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และประธานมูลนิธิ “เพื่อคนไทย” เผยว่า ผลสำรวจครั้งนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อยากได้นักการเมืองซื่อสัตย์ มีนโยบายชัด ผ่านพลังเสียงกว่าร้อยละ 80 ที่มองว่านโยบายต้านทุจริตคอร์รัปชั่นควรเป็นนโยบายหลัก ถ้าไม่มีนโยบาย ไม่ซื่อสัตย์ จะไม่เลือก ถ้าซื้อเสียงก็ไม่เลือก
พร้อมย้ำว่าโพลได้รับฟังประชาชนมาแล้ว ต้องช่วยกันสื่อสารออกไป เพราะเป็นสิ่งที่คนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ไปฟังปราศรัยต้องสอบถาม ป้ายหาเสียงทำไมถึงไม่เห็นป้ายเรื่องทุจริต หรือแค่พูดลอยๆ หากจะทำจริงๆ จะทำอย่างไร ต้องชัดเจน อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งคาดหวังว่าครั้งนี้จะพลิกผันทันที แต่ขอให้ใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองอย่างมีคุณภาพตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนี้
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองขณะนี้คือจุดเปลี่ยนประเทศไทยที่กำลังทะยานจาก “กับดัก” ประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมาอาจมีช่วงสูญเสียความสามารถแข่งขันกับการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตั้งแต่สงครามการค้า หรือเทรดวอร์ (Trade war) เมื่อปี 2562 และซ้ำด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดจนถึงปี 2565 ประกอบกับการที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับผู้สูงวัยอีกเยอะมาก
ดังนั้น จำเป็นที่ต้องหารายได้เข้าประเทศเพื่อดูแลผู้สูงวัยตามหลักสาธารณสุข จุดเปลี่ยนต่อมาคือประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การเติบโตประชากรติดลบ อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิต หมายถึงกำลังแรงงาน ความโดดเด่นของกำลังซื้อจะน่าสนใจและดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติลดลง หากการทุจริตยังเกิดขึ้นจึงจะยิ่งดึงเม็ดเงินที่น้อยลงไปสู่ข้างนอกคือในมือคนทุจริต
นอกจากนี้ ยังมีจุดเปลี่ยนจาก “อนาล็อก” เป็น “ดิจิทัล” ที่ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมหาศาล เพื่อให้คนรุ่นใหม่ทำธุรกิจด้วยตัวเอง กฎ ระเบียบต่างๆ จึงต้องเอื้อกับการประกอบธุรกิจ หากยุ่งยากจะนำไปสู่ทุจริตได้ง่าย ประกอบกับจุดเปลี่ยนใหญ่ของเอเชีย นำโดยจีนจะเติบโตแทนยุโรปหรือสหรัฐ ซึ่งทำให้ประเทศไทยโดดเด่นไปด้วย หากทำให้เอื้อต่อการลงทุน การมาพักอาศัย เป็นต้น
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ถึงโพลชัดเจนว่าคนทุกรุ่น ห่วงการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสังคมระยะกลาง ระยะยาว ตามด้วยการศึกษา และความเหลื่อมล้ำ
“ปัญหาเศรษฐกิจถูกถอยกลับออกมา แต่ความไม่เป็นธรรมในสังคมกลับกลายเป็นสิ่งที่คนไทยอยากให้การเมืองวางรากฐานไว้ เพราะหากยังเหลื่อมล้ำจะเจือมาด้วยความเชื่อว่าคุณทุจริตคอร์รัปชั่น หากมีตังค์ ทำผิดอะไรก็ได้ และจะหลุดจากคดี ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ บ่งชี้เลยว่าพูดถึงเรื่องสังคมระยะยาว พรรคการเมืองต้องทำประเทศไปสู่มิติที่ดีขึ้น”
นอกจากนี้ กรณีที่คนรุ่นใหม่อายุ 18-19 ปี ตอบปัญหาหลักอันดับสองคือเรื่องยาเสพติด สะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามาก เมื่อมียาเสพติด กระบวนการทุจริตก็เจือไปในระบบ ผลโพลจึงชัดว่าประเทศไทยต้องแก้ไขเร่งด่วน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี CPI (ดัชนีการรับรู้การทุจริต) ต้องเกินกว่า 50 คะแนน ขณะนี้ได้เพียง 36 คะแนน ติดอันดับที่ 101 ของโลก อันดับที่ 20 ของเอเซีย ดังนั้น การเมืองควรยึดเจตนารมย์ตามรัฐธรรมนูญคือ ต่อต้านคอร์รัปชั่น
“คนรุ่นใหม่ต้องบอกพรรคการเมืองให้ติดป้ายให้ชัด บนเวทีดีเบตก็ต้องถามเรื่องนี้ว่าจะแก้ยังไง จากการทำข้อมูลมาตั้งแต่ปีใหม่ 1 ใน 3 ของนโยบายที่อยากให้รัฐบาลทำคือการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะธุรกิจสีเทา ธุรกิจการพนันมันเจือมาในข่าวสารตลอดเรื่องคอร์รัปชั่นจึงโดดเด่นมาก”
ขณะที่ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ย้ำถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า ต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับ 3 แต่สำรวจครั้งนี้อยู่ในอันดับ 1 สิ่งนี้คือเสียงประชาชนที่บอกว่าไม่ทนแล้ว แม้ผลสำรวจบางส่วนมองยังไงก็แก้ไมได้ แต่คนรุ่นใหม่ขออย่าสิ้นหวัง เพราะนี่คือเวลาที่ดีสุดในการส่งเสียงว่าต้องการพรรคการเมือง นักการเมือง และนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และหากซื้อเสียง คนร้อยละ 86 จากกลุ่มตัวอย่าง บอกแล้วว่าจ่ายเงินเท่าไหร่ ก็จะไม่ได้เหมือนที่คุณทำในอดีตอีกต่อไป.