สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องอื้ออึงในวงการภาพยนตร์ไทยอยู่ 2 เรื่องคือ การที่โรงฉายหนังลดรอบหนังเรื่อง “ขุนพันธ์ 3” ทั้งที่เพิ่งเข้าสัปดาห์แรก และมีคนให้ความสนใจดูเยอะ และโรงหนังไปเทรอบให้ “ทิดน้อย” ลดราคาตั๋วเหลือไม่ถึง 50 บาท ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่เครือโรงหนัง (ซึ่งแทบจะผูกขาด) พอทำค่ายหนังเอง ก็เอาเปรียบค่ายหนังอื่น ลดรอบฉายเร็วบ้าง วางรอบฉายแบบไม่เช้าสุดก็ดึกสุดบ้าง มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ..หนังไทยยิ่งไม่ค่อยจะสร้างอยู่แล้ว เครือโรงหนังก็ไม่ส่งเสริม รัฐบาลก็ไม่ส่งเสริม ทั้งที่พูดปาวๆๆ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งสื่อภาพยนตร์เป็นสื่อชั้นดี
เรื่องต่อมา คือ การจัดเรตภาพยนตร์ “หุ่นพยนต์” ให้ได้เรท ฉ.20 คือต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้าชม ด้วยเหตุทำนองว่า “จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” เช่น มีฉากเณรจะต่อยกัน มีฉากเณรกอดสีกา (ซึ่งเป็นแม่เณร) ซึ่งมันฟังแล้วขำแบบตลกร้าย บอกถ้าจะไปดูพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ทำลายพระพุทธศาสนานี่ ไม่ต้องถ่อไปดูถึงในโรงหนังหรอก แค่ดูข่าวรายวันก็เจอเยอะแล้วเรื่องพฤติกรรมสงฆ์แปลกๆ (เด็กรุ่นใหม่ๆ เลยเรียกว่าแครอทซะอย่างนั้น) หรืออีพวกนับถืออะไรประหลาดๆ ลัทธิประหลาดๆ ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
มีคนเสนอให้ทำแบบหนังเรื่อง “ขุนพันธ์ 3” ที่สามารถ หลอกด่ารัฐบาลและหลอกด่าตำรวจได้ตั้งเยอะ คือ ให้ขึ้นคำเตือนตัวโตๆ ไว้ก่อนหนังฉายว่า “เหตุการณ์ทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติทั้งสิ้น ไม่มีความจริงเลยสักนิดเดียว ผู้มีวิจารณาญาณรู้เองว่ามันเป็นหนัง ไม่ต้องมีคณะกรรมการอะไรบ้าบอคอแตกมาคิดแทนให้ และจริงๆ แล้ว พระสงฆ์ไทยไม่มีพฤติกรรมนอกรีต ผิดจริยวัตรแม้แต่นิดเดียว จริงจริ๊ง แต่อย่าไปอ่านข่าวนะ เดี๋ยวจะงง” คือ หน้าบางกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แล้ว กรณีหนังที่เอาพระมาเล่นเป็นตัวตลกนี่ ไม่คิดว่ากระทบวัตรปฏิบัติอันงามของพระสงฆ์บ้างล่ะ
จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์กัน แต่กลับยกการ์ดตีกันให้มั่วไปหมด นั่นไม่ได้นะ นี่ไม่ได้นะ ฯลฯ แล้วเนื้อหามันจะไปได้ไกลแค่ไหน? มีคนบอกก็อย่าทำเรื่องเกี่ยวกับวงการที่ “ดัดจริต” มากนักสิ แบบวงการคนในเครื่องแบบอะไรเงี้ย พวกนี้เกียรติยศศักดิ์ศรีค้ำคอซะหน้าลอยบนเพดาน …แต่ใครจะรู้อีกล่ะ บทจะบ้าจี้ขึ้นมาบางวงการ ที่ว่าไม่ดัดจริตก็โวยวายได้ เช่นตอนละครเรื่อง “สงครามนางฟ้า” ดังๆ ก็มีกลุ่มสจ๊วต แอร์โฮสเตส ไม่พอใจ..จะ ไปแตะวงการนาฏศิลป์ ถ้ามันผิดจาก “ทางครู” เดิม เดี๋ยวก็มีคนไม่พอใจอีก เรื่องในรั้วในวังของฝ่ายในสมัยก่อนนี่ก็ว่าสนุกๆ เยอะ แต่ใครจะกล้าแตะ ..ความเยอะมีกระทั่งชื่อเรื่อง “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน” ก็เคยถูกร้องเรียนให้เปลี่ยนเป็น “เชือดก่อนชิม” (ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีหนังฮ่องกงเรื่อง “ซาลาเปาไส้คน” ฉาย ก็ไม่เห็นจะออกมาโวยอะไรกันว่า เดี๋ยวทำคนกลัวซาลาเปา)
คือมันไม่ใช่ ยุคสมัยที่นางร้ายเล่นร้ายมากแล้วแม่ค้าดักตบในตลาดแล้ว ยุคนี้เขารู้กันอะไรเรื่องจริง อะไรสมมุติ แต่ถ้าจะดัดแปลงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็ต้องระวังหน่อย เพราะบางเรื่องมันมีการบิดเบือน หรือตีความไปตามอุดมการณ์ของผู้สร้างได้ แต่ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยที่เอามาทำหนังได้ก็เรียกว่า “เนื้อหามันแบน” ตัวดีตัวร้ายชัด ไม่ต้องมีมิติอะไรมาก อย่าง รัฐบาลที่ทำหนังด่าได้คือรัฐบาลช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา, ย้อนกลับไปสมัยอยุธยา ทำหนังด่าพม่าได้ แต่หนังมันก็แบนๆ นำเสนอภาพการต่อสู้กู้ชาติอย่างเดียว เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ต้องเยาวชนหรอก วัยหัวหงอกหัวดำแล้วนี่แหละ หลายคนยังไม่รู้เลยว่า พม่าบุกไทยตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะอะไร
บ่นมากไปเดี๋ยวจะไม่เข้าเรื่อง ที่อยากเล่าวันนี้ ในเดือน มี.ค. นี้ มีวาระวันที่ 8 มี.ค. เป็น วันสตรีสากล ซึ่งเป็นวันที่สหประชาชาติกำหนดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็พูดถึงเรื่องการส่งเสริมบทบาทหญิงเท่าเทียมชาย หรือพื้นที่สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยเอง เรื่องการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เรามี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ดูแลอยู่
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องประสบมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว สังคมไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้กันเพียงพอหรือยัง อัตราส่วนแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศไทยเยอะ บางครั้งไม่ใช่ว่า ท้องแล้วผู้ชายไม่รับผิดชอบ แต่ท้องแล้วต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ลูกถูกทำร้าย แม่ก็ต้องออกมาจากตรงนั้นให้ได้
ความรุนแรงไม่ได้แสดงออกด้วยการประทุษร้ายทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่มันมีวิธีการ กดดัน ใช้จิตวิทยา ใช้คำพูด หรือทำอะไรก็ตามเพื่อด้อยค่าอีกฝ่ายจนความมั่นใจถูกเซาะกร่อน สูญเสียตัวตนไปทีละน้อย.. และบางครั้งฝ่ายผู้กระทำเอง ก็เป็นผู้ที่ถูกสังคมรอบข้างกระทำมาก่อน กลับใช้การทำร้ายใจคนใกล้ตัวเป็นการระบายอารมณ์
Alice, Darling เป็นหนังที่พูดถึงความรุนแรงที่แสดงภาพการใช้ความรุนแรงออกมาน้อยมาก.. แต่ มันแสดงภาพของคนที่ถูกกระทำความรุนแรงทางใจแบบชกโครมตรงประเด็น.. เรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงสาวชื่อ อลิซ (Anna Kendrick) ที่ดูเหมือนมีชีวิตที่ดี มีสามีที่เพียบพร้อมเป็นนักศิลปะ มีเพื่อนรักคือ เทสและโซฟี ..ภายใต้ภาพภายนอกสวยๆ ของชีวิต หนังค่อยๆ พาเราไปสำรวจชีวิตของอลิซ ด้วยการแสดงพฤติกรรมของตัวเธอเอง โดยใช้พฤติกรรมตัวละครอธิบายเป็นภาษาภาพ
อลิซดูเหมือนจะเป็นผู้หญิงที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ให้เนี้ยบตลอดเวลาก่อนพบกับไซม่อนผู้เป็นสามี ..ขณะเดียวกันไซม่อนก็ดูเป็นหนุ่มผู้เพียบพร้อม หนังบอกเล่าว่า ไซม่อนเป็นศิลปินที่เปิดแกลเลอรีภาพวาด แต่คงจะเป็นศิลปินประเภทหิวแสงพอสมควร เนื่องจากในการจัดแสดงภาพ เขามาฟูมฟายกับอลิซภายหลังว่า “ทำไมไม่มีคนดังๆ มาดูเลย” แม้คนจะมาเต็มงานก็ตาม แต่ไม่ใช่คนที่ไซม่อนอยากให้มาค้นพบตัวเขา เห็นคุณค่างานเขา
ไซม่อนไม่เคยใช้ความรุนแรงกับอลิซให้เห็น แต่เรากลับพบว่า อลิซกลัวไซม่อนแบบขี้ขึ้นสมอง สิ่งที่แสดงออกได้ชัดเจนคือ อาการลนลานเร่งร้อนก่อนจะต้องเจอไซม่อน การที่หญิงสาวชอบแอบเข้าไปดึงลูกผมลุ่ยๆ ทิ้งเวลาเครียด …ขณะเดียวกัน วันหนึ่งอลิซนัดเจอเทสและโซฟีเพื่อนสนิท ทั้งสองคะยั้นคะยอให้อลิซไปพักผ่อนที่กระท่อมริมทะเลสาบของเทส ..อลิซอิดออดแต่ทนเพื่อนเซ้าซี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นช่วงวันเกิดเทส ทำให้อลิซต้องโกหกไซม่อนว่า มีงานด่วนต้องเดินทางสักพัก.. เมื่อทั้ง 3 สาวไปถึงกระท่อมริมทะเลสาบ ก็พบว่า ในชุมชนเล็กๆ นั้น กำลังมีปัญหาเรื่องหญิงสาวหายตัวไป และชาวบ้านกำลังเร่งระดมตามหา
ในระหว่างอยู่ด้วยกัน เทสกับโซฟีค่อยๆ ค้นพบความเครียดของอลิซ ..จนวันหนึ่ง ไซม่อนรู้ว่าอลิซไม่ได้ไปทำงาน แต่ไปพักผ่อน ก็โทรศัพท์ไปเร่งให้เธอกลับมา ..ตรงนี้หนังนำเสนอโดยปล่อยเสียงสนทนาของไซม่อนทางโทรศัพท์ออกมาเพียงเล็กน้อยให้รู้ว่า เขาเป็นคนชอบกดดันผู้อื่น โดยการด้อยค่า และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด และอลิซต้องรับไปเต็ม ๆ ก่อนอลิซจะกลับ เทสเอาโทรศัพท์อลิซไปซ่อน ทำให้หญิงสาวทะเลาะกับเพื่อนและระเบิดความในใจบางอย่าง ระเบิดความกดดันที่ไม่รู้ว่าตัวเองกดดันด้วยเรื่องอะไร แต่รู้สึกว่า ชีวิตไม่มีความสุข ที่ต้องทำตัวให้ดีพร้อม ไม่ให้ไซม่อนตำหนิ
อลิซตัดสินใจอยู่บ้านพักตากอากาศต่อ ขณะเดียวกันคาดว่า ไซม่อนจะแกะรอยจากจีพีเอสโทรศัพท์แล้วมาหา เพื่อเร่งรัดให้อลิซกลับบ้าน ประเด็นเล็กๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างมื้อเย็นที่น่าอึดอัด ระหว่างไซม่อนกับกลุ่มเพื่อนอลิซ คือ หญิงสาวที่หายสาบสูญไปถูกพบเป็นศพแล้ว…และก็ไม่แน่ว่า เรื่องนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนอะไรหรือไม่ กับการตัดสินใจของอลิซในท้ายเรื่อง ที่ต้องเลือกระหว่างสามีที่ดูเหมือนสมบูรณ์แบบ กับชีวิตที่ได้เป็นตัวของตัวเองเสียที
ขอบอกว่า Alice, Darling เป็นหนังที่..ไม่ถึงกับซ่อนสาร แต่โชว์สารความรุนแรงให้อยู่ในระดับที่พอเห็นแล้วเข้าใจไม่ต้องมาก เกี่ยวกับ Toxic people มีผลต่อชีวิตของเราอย่างไร ไม่ต้องแสดงความรุนแรงอะไรเยอะ (แม้แต่การใช้ภาษาระหว่างกันอย่างรุนแรงก็ออกมาในเวลาอันจำกัด) แต่ชี้ให้เห็นถึงผลของความรุนแรงทางคำพูดที่มีผลต่อจิตใจผู้รับฟัง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวหรือคนที่อยู่ในฐานะ “เบี้ยล่าง” …ทำไมอลิซถึงมีอาการชอบทึ้งลูกผมตัวเอง เพราะเมื่อเจอกับไซม่อนโดยไม่ได้คาดหมาย ที่บ้านพักของเทส ไซม่อนจับผมของอลิซ (ที่ไม่ได้จัดทรงเป๊ะ) พูดกับเธอต่อหน้าเพื่อนอีกสองคนว่า ไม่ได้เจอกันสักพัก อลิซปล่อยตัวเหมือนโบฮีเมียน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตหรือแฟชั่นรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้ถูกมองว่าหรูมีระดับ ง่ายๆ ไซม่อนกำลังดูแคลนเธออยู่ อลิซดึงลูกผมออกตลอดไม่ให้ผมลุ่ย ราวกับกลัวไซม่อนดูแคลน ลดคุณค่าเธออีก
และคงจะมีก่อนหน้านี้อีกหลายครั้ง ที่ไซม่อน ใช้คำพูดบั่นทอนจิตใจ ลดคุณค่าความเป็นตัวเองของอลิซไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกอภิรมย์กับความมีอำนาจเหนือ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไซม่อนก็อาจเป็นแค่พวกขี้แพ้ (loser) ในชีวิตหน้าที่การงานของเขาก็ได้ จากการที่เห็นเขาฟูมฟายเมื่อคนที่เขาอยากให้มาดูงานศิลปะไม่โผล่มาเลยสักคน .. มันเป็นกลไกทำลายความเครียดของตัวเองอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะทำร้ายคนที่ด้อยกว่าเพื่อแก้ไขความรู้สึกแย่ๆ ที่ตัวเองถูกทำร้ายมา..คนเรา ทำร้ายกันด้วยวาจาด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็สร้างแผลใจให้อีกฝ่ายหนึ่งได้
เหตุการณ์ที่หนังใส่มาเกี่ยวกับเรื่องหญิงสาวที่สูญหายและถูกพบกลายเป็นศพ.. อาจดูเหมือนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เอามาหลอกคนดูและสุดท้ายก็ไม่มีความสลักสำคัญอะไร.. แต่มันอาจมีความหมายเป็นตัวบอกใบ้ว่า หากอลิซยังทนให้ไซม่อนครอบงำจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง จากการทำร้ายด้วยคำพูด เมื่อเหยื่อไม่ตอบโต้ ความรุนแรงก็มีโอกาสขยายไปถึงการประทุษร้ายทางกาย วันหนึ่งหากเธอทนไม่ไหวเธออาจกลายเป็น “บุคคลสูญหาย” ไปอีกคนก็ได้
หนังมันมีสารที่ชัดเจน เรื่องการใช้ความรุนแรงทางวาจา มันมีผลให้ผู้ถูกกระทำถึงกับมีอาการทางประสาทได้ถ้าไม่ตอบโต้ หรือไม่อยู่ในภาวะที่สามารถตอบโต้ได้.. และสมัยนี้ก็คงมีการใช้ความรุนแรงทางวาจาระหว่างกันบ่อย เพราะความเครียดของคนมากขึ้นหรือเพราะอะไรก็ตาม เราจะได้เห็นหนังสือ how to ประเภทการรับมือกับคำพูดบั่นทอนหลายเล่มออกมา อย่างเช่น “ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย”, “อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด”, “ที่ออฟฟิศมีพี่คนนั้น”, ป่านนี้เขากินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว” ฯลฯ … บางคำพูดมันเป็นประทุษวาจา ที่คนพูดเองก็ไม่คิดด้วยซ้ำ
สมัยนี้เหมือนว่า เราต้องมีความเข้มแข็งทางอารมณ์เยอะขึ้น เพราะการทำร้ายใจ หรือการ bully มันเกิดง่ายเหลือเกิน
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”