มีหนึ่งโพลน่าสนใจคือ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง 2566 โดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”

เป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,255 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 403 ตัวอย่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 750 ตัวอย่าง ภาคกลาง 233 ตัวอย่าง ภาคตะวันออก 176 ตัวอย่าง ภาคใต้ 314 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้ร้อยละ 53 อาศัยในเขตเมือง และร้อยละ 47  อาศัยในเขตชนบท ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82 เคยเลือกตั้งมาก่อน อีก ร้อยละ 18 เลือกตั้งครั้งแรก สำรวจระหว่างวันที่ 5-25 ม.ค. 2566

สำหรับโพลดังกล่าวสะท้อนทั้งมุมมองความต้องการของประชาชน และข้อเสนอที่อยากให้พรรคและนักการเมืองหยิบยกเป็นนโยบายหาเสียง และลงมือปฏิบัติ เพื่อให้การเมืองไทยหลังเลือกตั้งครั้งนี้ เปลี่ยนแปลงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้จริง โดยผลสำรวจแต่ละหัวข้อมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

นโยบายพรรคการเมืองควรเป็นอย่างไร

ร้อยละ 32 ควรชัดเจนเป็นรูปแบบว่าจะวางแผนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างไร รองมาร้อยละ 31 ควรจะมีการตรวจสอบได้ ร้อยละ 24 ควรใช้งบประมาณให้คุ้มค่า และร้อยละ 13 ควรปฏิบัติได้จริง

พรรคการเมืองควรประกาศนโยบายแบบไหน

ร้อยละ 41 นโยบายที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ ร้อยละ 33 นโยบายกว้าง ๆ และร้อยละ 26 นโยบายที่ระบุกระบวนการตรวจสอบที่สามารถตรวจสอบได้จริง

ปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขมากที่สุด (3 ลำดับแรก)

อันดับ 1 ร้อยละ  25 ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อันดับ 2 ร้อยละ 14 การศึกษา  อันดับ 3 ร้อยละ 13 ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหากแยกรายภาคพบว่า ทั่วประเทศให้ความสำคัญมากเป็นอันดับ 1 เหมือนกัน

นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นมีผลต่อการลงคะแนนหรือไม่

ร้อยละ 67 มาก (เพราะต้องการความชัดเจนในการปฏิบัติได้จริง, ต้องการความโปร่งใสตรวจสอบได้, ช่วยแก้ไขวัฒนธรรมทุจริตทุกรูปแบบ, ประเทศมีทิศทางพัฒนาที่ดีขึ้นทุกด้าน) ร้อยละ 28 ปานกลาง ร้อยละ 3 ไม่มีผลเลย และร้อยละ 2 น้อย 

เห็นด้วยหรือไม่ว่า พรรคการเมืองควรจะเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหลัก

ร้อยละ 82.4 เห็นด้วย (เหตุผลคือ เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องชัดเจน ปฏิบัติได้จริง, เป็นการดำเนินการทุกภาคส่วนให้โปร่งใสตรวจสอบได้, ปัญหาเรื้อรังต้องแก้จริงจัง เช่น วัฒนธรรมไม่ติดสินบน/เส้นสาย/เงินใต้โต๊ะ, สร้างความสนใจ เชื่อมั่น สอดคล้องปัจจุบันเพื่อประชาชนตัดสินใจง่ายขึ้น)

ร้อยละ 17.6 ไม่เห็นด้วย (เหตุผลคือ ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเพราะเลือกเน้นตัวบุคคล/พรรค, ปฏิบัติไม่ได้จริง และไม่สามารถแก้ไขได้, พิจารณานโยบายอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปากท้อง, เข้ามาทำประโยชน์ให้ประเทศก็พอ)

มาตรการ/นโยบายที่รัฐควรให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามทุจริต (3 อันดับแรก)

อันดับ 1 ร้อยละ 19.1 ต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงง่าย อันดับ 2 ร้อยละ 17.9 รับฟังเสียงประชาชน ปกป้องและสร้างการมีส่วนร่วม อันดับ 3 ร้อยละ 17.8 สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ทำงานอย่างอิสระ

ปัญหาคอร์รัปชั่น 3 อันดับแรก ที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดจัดการ (3 อันดับแรก)

อันดับ 1 ร้อยละ 23.9 ปัญหาทุจริตในระบบราชการ อันดับ 2 ร้อยละ 21.6 กระบวนการยุติธรรม อันดับ 3 ร้อยละ 11.8 เงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา

ปัญหาคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม (3 อันดับแรก)

อันดับ 1 ร้อยละ 18 ควบคุม จัดการสมาชิกในรัฐบาลและพรรคการเมืองเสียงข้างมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต อันดับ 2 ร้อยละ 16.7 เปิดเผยข้อมูลเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 3 ร้อยละ 12.4 นโยบายเรื่องประโยชน์ทับซ้อน และการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง

ภาคการเมืองควรมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (เพื่อสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่น)

ร้อยละ 38.4 ซื่อสัตย์และจริยธรรมในการทำงาน มีความชัดเจนในนโยบาย รองมาร้อยละ 28.2 โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล และตรวจสอบได้ ร้อยละ 24.5 เป็นกลาง และรับฟังเสียงประชาชน ร้อยละ 5.8 ร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงาน ไม่สร้างความขัดแย้ง และร้อยละ 3.1 ไม่ใช้อำนาจในทางผิด

พรรคการเมืองควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

ร้อยละ 37.4 เป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เอื้อพวกพ้อง ไม่รับสินบน ไม่ซื้อเสียง ร้อยละ 36.1 ชัดเจนในนโยบายต้านคอร์รัปชั่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ควรซับซ้อนเกินไป ร้อยละ 13.4 ทำงานเอื้อกับส่วนรวม ไม่สร้างความขัดแย้งกันเอง และร้อยละ 13.1 สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนโดยรับฟังเสียงส่วนใหญ่ในการปฏิรูปหรือแก้กฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ

นักการเมืองควรมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร

ร้อยละ 40 สามารถปฏิบัติหน้าที่และทำตามสัญญากับสาธารณะ ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม ร้อยละ 27 เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ชัดเจนในการต้านทุจริตฯ ร้อยละ 26.8 ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้พร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม ร้อยละ 5.7 ไม่ใช้อำนาจในทางผิด ไม่เข้าแทรกแซงการทำงานภาคส่วนต่าง ๆ

ความตั้งใจจริงของนักการเมืองควรเป็นอย่างไร

ร้อยละ 41.1 ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม ทำงานเพื่อประเทศ ร้อยละ 19.7 โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 16.9 ชัดเจนในนโยบาย ไม่ใช้อำนาจทางผิด ร้อยละ 13.7 แก้ไขกฎหมายหรือระเบียบควรฟังเสียงคนส่วนมาก ร้อยละ 8.6 มีความเป็นผู้นำ พร้อมความสามารถรอบด้าน

สิ่งที่นักการเมืองไทย ไม่ว่าจะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ควรต้องทำ

ร้อยละ 32.6 ซื่อสัตย์  มีจริยธรรม-จรรยาบรรณ รักษาสัญญา เน้นการปฏิบัติ ร้อยละ 24.3 มีความเป็นผู้นำ พร้อมด้วยความสามารถ ร้อยละ 15.9  ทำงานอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ร้อยละ 15.7 เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้อำนาจทางผิด ร้อยละ 11.5 รับฟังเสียงคนส่วนมาก

หากพรรคการเมืองไม่มีนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จะเลือกหรือไม่

ร้อยละ 83.6 ไม่เลือก ร้อยละ 16.4 เลือก เหตุผลหลักคือไม่ว่ายังไงก็ต่อต้านไม่ได้เพราะเป็นเรื่องปกติการเมืองไทย

หากนักการเมืองมีการให้เงินซื้อเสียง จะเลือกนักการเมืองคนนั้นหรือไม่

ร้อยละ 86.2 ไม่เลือก ร้อยละ 13.8 เลือก เหตุผลหลักคือเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศก็พอ

เห็นด้วยหรือไม่ หากราชการนำระบบ e-services มาใช้บริหารจัดการทุกขั้นตอน เพื่อความโปร่งใส

ร้อยละ 81.1 เห็นด้วย  ร้อยละ 18.9 ไม่เห็นด้วย

การนำเทคโนโลยีมดิจิทัลมาใช้ จะสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากน้อยเพียงใด

ร้อยละ 42 มาก ร้อยละ 35 ปานกลาง ร้อยละ 20 น้อย และร้อยละ 4 ไม่มีผลเลย

ติดตามข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ พร้อมความเห็นเพิ่มเติมต่อเนื่องในวันพรุ่งนี้.