รายงานว่าจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นจากแรงซื้อตามปัจจัยทางเทคนิค และการปรับโพสิชันของตลาดในระหว่างที่รอสุนทรพจน์ของประธานเฟดจากที่ประชุมเฟดประจำปีที่แจ๊กสัน โฮล เพื่อประเมินสัญญาณเกี่ยวกับการชะลอมาตรการคิวอี
นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์บางส่วนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่สะท้อนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ท่ามกลางการคาดหวังว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดอาจมีแนวโน้มคลี่คลายลงบ้างเมื่อเทียบกับจุดที่น่ากังวลในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเงินบาทในวันศุกร์ (27 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ส.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ส.ค.-3 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดในประเทศ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ก.ค.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ส.ค. ของจีน และยูโรโซน รวมถึงท่าทีของสหรัฐ และชาติตะวันตกต่อเหตุการณ์ในอัฟกานิสถาน