จะทำอย่างไรให้สารที่ส่งออกไปเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด
“จับไต๋การเมืองช่วงฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง : บทบาทสื่อและผู้บริโภคที่ควรร่วมมือกัน” โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ โคแฟค (ประเทศไทย) เป็นหัวข้อเสวนาชวนคิดที่ระดมสื่อมวลชนสายการเมือง มาสะท้อนประเด็นเข้ากระแส พร้อมจับตา-รับมือเลือกตั้งอย่างเท่าทัน ทั้งตัวผู้ถ่ายทอดและผู้รับสาร
“ดาวี ไชยคีรี” ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยว่า อย่างที่รู้กันว่าการทำงานของสื่อยุคนี้จะเรียกว่าง่ายก็ง่าย จะเรียกว่ายากก็ยาก เพราะการทำงานกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองยุคนี้ มีการทำข่าว “สำเร็จรูป” ส่งให้ผู้สื่อข่าวทุกวัน แต่ในฐานะผู้สื่อข่าว ต้อง “ฉุกคิด” ให้ได้ว่า ข่าวที่ส่งมาเป็นการ “ปล่อยข่าว” หรือไม่
เรื่องนี้เป็นความท้าทายของผู้สื่อข่าวที่หากหยิบเพียงชิ้นข่าวนั้นมานำเสนอก็จะเป็นการรายงานเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการปล่อยข่าวได้
ทั้งนี้ยิ่งใกล้เลือกตั้ง สิ่งที่ต้องจับตาคือผู้ที่สวม “หมวกสองใบ” คือมีทั้งฐานะผู้มีอำนาจในรัฐบาล พร้อมมีตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง เวลาลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนจะลงไปในฐานะใด และจากที่ลงไปทำข่าวพบว่าเป็นการใช้เวลาหาเสียงในเวลาราชการ
“อยากฝากให้ทุกคนติดตามสถานการณ์การเมือง อย่างที่บอกไปเบื้องต้น การเมืองเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและมีผลกระทบต่อเราทุกคน การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อยากจะให้ร่วมกันติดตาม ช่วยกันตรวจสอบ หรือมีข้อมูลอะไรก็สามารถส่งมาให้สื่อขยายผลได้”
“สมฤดี ยี่ทอง” บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เผยว่า การทำงาน-สื่อในปัจจุบัน เราต้องรักษาสมดุลหรือความเป็นกลาง เพราะหากไม่มีความเป็นกลางในยุคปัจจุบัน ที่มีปัญหาเหมือนกับจำนวนนักข่าวที่ลดลงของทุกสถานีโทรทัศน์ แต่ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็มีจำนวนเท่าเดิม หรืออาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น กองบรรณาธิการจำเป็นจะต้องเลือกและให้ความสำคัญกับพรรคใดตามลำดับ แต่ใช่ว่าจะสามารถทิ้งพรรคอื่นได้ ไม่เช่นนั้นพรรคใหม่คงไม่สามารถเกิดขึ้น
อีกด้านหนึ่งพรรคการเมืองเองก็ปรับตัว มีการทำข่าวหรือคลิปวิดีโอส่งให้สื่อมากขึ้น ซึ่งคนทำงานสื่อจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าการทำงานหรือการส่งข่าวทางเดียว จะได้แค่ภาพในด้านดีด้านเดียว ดังนั้นแม้ไม่ได้ลงไปทำข่าวหรือหาข้อมูลเอง ก็จำเป็นจะต้องกรองข้อมูลก่อนนำเสนอ
“สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์” บรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวเยอะมาก ซึ่งมาจากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเอง ถือเป็นความท้าทายของนักข่าว ที่บางครั้งอาจดูเป็นเหมือนประชาสัมพันธ์ ในการได้ข่าวมาแต่ละครั้ง จึงจำเป็นต้องกรองก่อนนำเสนอ
“สำหรับสิ่งที่เราเจอนั้น เนื่องจากในขณะนี้ ฝ่ายพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเอง พยายามที่จะเข้ามาหากองบรรณาธิการให้มากขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ในหน้าของสื่อ จึงทำให้เราผู้เป็นสื่อ หรือนักข่าวเองก็ตาม ต้องมีการรักษาระยะห่าง”
“วราวิทย ์ ฉิมมณี” ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึกและข่าวข้นคนข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ระบุ อย่าปฏิเสธไปเลยว่า การเมืองนั้นไม่ใช่เกม แล้วที่นักการเมืองบอกว่า ไม่ได้เล่นเกมจริง ๆ ก็คือกำลังเล่นเกมอยู่ เพราะสุดท้ายข้อมูลที่เรานำเสนอ ไม่ว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบใคร สิ่งที่หวังที่สุดคืออยากให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันเกมการเมือง
ยกตัวอย่างการบอกว่าจะมีผู้มาฟังปราศรัย 40,000-50,000 คน ซึ่งรู้ได้อย่างไรว่า จะมีคนมาฟังในจำนวนนั้น แปลว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ภาพแบบนี้เกิดขึ้น แม้ภาพนั้นจะเกิดหรือไม่ก็ตาม แต่สารนั้นได้เข้าไปแล้ว เวลารายงานว่าใครไปทำอะไร จึงต้องสอดแทรกแง่มุมข้อสังเกตตรงนี้เข้าไปตลอด เพื่อให้คนรับสื่อรู้ทัน
“เสถียร วิริยะพรรณพงศา” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี มองว่า การเมืองหน้าฉากกับหลังฉากเป็นคนละเรื่องกัน และส่วนใหญ่เรื่องจริงมักจะอยู่ด้านหลัง ขณะที่ด้านหน้าคือการเรียบเรียงเพื่อตั้งใจส่งสัญญาณให้กระทบกับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง หรือเพื่อเป็นการประเมินเสียงตอบรับ
ทั้งนี้ ภาพรวมการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นด้านหนึ่งก็บอกได้ว่าในรอบหลายปีนี้ค่อนข้างดุเดือด เพราะมีการเดิมพันสูงมาก แต่อีกด้านก็เป็นเรื่องแปลก เพราะเหมือนล่วงรู้แล้วว่าใครจะชนะ กระทั่งมองข้ามขั้นไปคุยกันเรื่องจัดตั้งรัฐบาลแล้ว
ปรากฏการณ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์อธิบายให้ผู้คนเข้าใจ หากสังเกตดูจะมีการส่งสัญญาณสลับขั้วกันอยู่เรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้พอจะดูออกว่ามันคือเกม และเป็นศิลปะที่ไม่ง่ายในการสื่อสารให้คนทราบ
“กองบรรณาธิการในสมัยนี้ เหนื่อยกับสงครามข่าวที่มีจำนวนมาก ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันแปลก ๆ คือ เหมือนเลือกตั้งไปก็ไม่ได้คิดว่าจะจบแค่การบริหาร มันมีเดิมพันไกลมาก บางคนอาจกลับมาติดคุกหรือไม่ติดคุก บางคนต้องรักษาอำนาจต่อ บางคนต้องผนึกเครือข่าย ผมคิดว่าตอนนี้มันเดิมพันเยอะ เพราะฉะนั้นทุกคนลงกันเต็มที่”
ขณะที่ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) ระบุ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นยุคของสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทเต็มรูปแบบ 100% ซึ่งจะยิ่งใหญ่กว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาก เพราะเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ
ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การทำหน้าที่ของสื่อออนไลน์ รวมทั้งการทำหน้าที่ของประชาชน จึงสำคัญ และการพูดคุยครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องจับตาทิศทางกันต่อไป.