ซึ่งกรณีพ่อแม่ผู้ปกครองคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน ผู้ใหญ่คุยเรื่องเพศกับเด็ก กับผู้ใหญ่ส่วนหนึ่ง…ที่ก็ไม่น่าจะเป็นส่วนน้อยด้วย อาจจะยังคงมองว่าไม่เหมาะ-ไม่ควร โดยเฉพาะการคุยประเด็นเกี่ยวกับเซ็กซ์ ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะมองเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาที่ “ปัญหาในเด็กวัยรุ่นอันเนื่องจากเรื่องเซ็กซ์” ในยุคนี้…

“คุยเรื่องเพศ” กรณีนี้…“ยุคนี้ยิ่งน่าคิด”

“เด็กยุคใหม่” นั้น…“เรื่องเซ็กซ์ปิดไม่ได้”

“มีเกลื่อนโลกออนไลน์”…มี “ทั้งถูก-ผิด”

ทั้งนี้ “คุยเรื่องเพศ” กรณีนี้…ที่ช่วงนี้ สสส. ก็เป็นแกนรณรงค์…ก็ว่ากันไป… แต่ประเด็นที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ให้พินิจพิจารณากันอีกในวันนี้…คือ “ปัญหาในเด็กวัยรุ่นไทยอันเนื่องจากเรื่องเซ็กซ์” ซึ่งยุคนี้เป็นปัญหาในสังคมไทยที่ยัง ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบาง…ซ้ำร้ายยังขยายวงอย่างรวดเร็ว อีกต่างหาก!!

กับเรื่องเพศ…หากดูกันในมุม “คุกคามทางเพศ” สำหรับในมุมนี้ทาง พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เคยสะท้อนกับ “ทีมอาชญากรรมเดลินิวส์” ไว้ บางช่วงบางตอนมีว่า… “คุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ปัจจุบันเกิดขึ้นมาก… มีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผ่านทางการสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ… การถูกคุกคามทางเพศอาจเกิดได้ในทุกสถานที่… ซึ่งทั้งกระทบจิตใจผู้เสียหาย และอาจนำสู่การเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้” …นี่เป็นโดยสรุปจากที่ ผบก.ปคม. ได้เคยสะท้อนไว้ …ทั้งนี้ คุกคามทางเพศนั้น…ก็มีประเด็นที่สังคมต้องพินิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน…คือ “ยุคนี้เด็กชายก็เป็นเหยื่อ” ขณะที่ “ผู้คุกคามที่เป็นเด็กหญิงก็ยังมี!!”…

นี่คือ “ปัญหาเรื่องเพศในเด็กไทยยุคนี้”

ที่ “ยิ่งน่าห่วงการขยายวง-ขยายแง่มุม!!”

“ยิ่งน่าห่วง!!” ดังที่นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม เคยสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “ผู้หญิงกล้าแสดงออกมากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่จะตอบได้ว่าทำไมในยุคปัจจุบันนี้มีผู้หญิงที่เป็นฝ่ายกล้าชักชวนผู้ชายไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันมากขึ้น!!… การปลดปล่อยเรื่องนี้ออกมาในสังคมปัจจุบัน…อาจนำไปสู่ค่านิยมที่ผิด ๆ ของผู้หญิงในเรื่องของการมีเซ็กซ์ โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น เช่น… ต้องได้ผู้ชายเยอะ ๆ หรือต้องได้ผู้ชายหล่อ ๆ มาครอบครอง…”

และทางนักจิตวิทยาท่านดังกล่าวก็ยังได้ชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้อีกว่า… ในสังคมไทยปัจจุบันที่เป็นสังคมวัตถุนิยม-บริโภคนิยม “การดำเนินชีวิตของเด็กวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ต้องบอกว่าเป็นแบบ…ขาดวิ่นในชีวิต ขาดวินัย ขาดการยับยั้งชั่งใจกันมากขึ้น” โดยที่การดำเนินชีวิตของเด็กไทยดังว่านี้…ก็เป็นสาเหตุ “ทำให้มั่วและหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์” ได้…

“ที่ก็ยิ่งน่ากลัว” คือกรณี “เสพติดเซ็กซ์”

“เป็นโรคเสพติดเซ็กซ์”…ก็ “จะยิ่งมั่ว!!”

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มเพิ่มเติมโดยโยงกรณี “พ่อแม่ผู้ปกครองคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน” กับการที่ “ยุคนี้ยิ่งน่าคิด”… ด้วยแง่มุมจาก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ที่ก็เคยสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยสรุปมีว่า… สังคมยุคนี้น่าเป็นห่วงและน่าลำบากใจ ซึ่งวัฒนธรรมเดิม ที่เป็นสิ่งที่ดีงาม การที่เด็กจะรักตัวเอง เคารพตัวเอง และดูแลตัวเอง การหล่อหลอมพวกนี้เกิดขึ้นในบ้านในครอบครัว แต่สิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในยุคนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมที่ดีเหล่านี้เริ่มเบาบาง ในรั้วบ้านยุคนี้มันอ่อนแอมาก อาศัยอยู่ด้วยกันแต่ไม่ค่อยพูดคุยกัน จะคุยกันแค่เรื่องปากท้อง-เงินทอง

ขณะที่ปัจจุบันมีสิ่งยั่วยวนเข้ามาทางโซเชียลมีเดียด้วยซึ่งมาแรง…เปลี่ยนค่านิยมได้ภายในพริบตา ซึ่งมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี… “มันประจวบเหมาะกัน คือเด็กก็เข้าไปข้องแวะในโซเชียล ขณะที่บ้านเองก็ไม่เป็นบ้านที่ดี ปฏิสัมพันธ์ไม่ค่อยดี… ทำให้เกิดค่านิยมเพี้ยน ๆ จากการที่เด็กไปเจออะไรที่ไม่ดีในโซเชียลฯ และเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี”

ทิ้งท้าย…สะท้อนเน้นย้ำไว้กับการระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ผอ.ศูนย์คุณธรรม ที่ก็ยึดโยงกรณี “พ่อแม่คุยเรื่องเพศกับลูก” ให้ลองคิด-ลองพินิจพิจารณากัน กับการระบุที่ว่า… “ลูกจะดี หรือที่ไม่ดีก็จะเปลี่ยน เทคนิคในการดูแลลูกคือ…รับฟังเสียง หรือใช้คำว่า…พ่อแม่หัวใจประชาธิปไตยสร้างการมีส่วนร่วมภายในบ้าน พูดคุยกัน รับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี พฤติกรรมลูกก็จะดีหรือเปลี่ยนเป็นดีได้” …ขณะที่ถ้าเป็นในทางกลับกัน…ผู้สันทัดกรณีท่านนี้ชี้ไว้สรุปได้ว่า… “เมื่อบ้านเป็นแค่หลังคาอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันแต่เรื่องวัตถุนิยม-บริโภคนิยม ไม่ได้คุยเรื่อง soft skill ไม่ได้เป็นต้นแบบที่ดี เช่นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน การเคารพศักดิ์ศรี การประพฤติปฏิบัติตน…

ก็เป็นปัญหาโยงสู่สิ่งไม่ดีจากโชเชียล

ที่เป็นตัวยั่วยุที่กระหน่ำซัมเมอร์เซล”

ยั่วยุ “ทำให้พลาด…รวมถึงเรื่องเพศ”.