หนึ่งตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้คือ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”

นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ย้ำถึงกฎหมายดังกล่าวว่า เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งต้องมีการบันทึกภาพตั้งแต่เริ่มต้นจับกุมว่า เป็นไปตามกระบวนการโดยชอบหรือไม่ ต้องกระทำอย่างเปิดเผย ไม่มีการบังคับขู่เข็ญทุกกรณี กระทำทรมาน หรืออุ้มหายเหมือนในอดีต

ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิบังคับใช้กฎหมาย จึงมีการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือฯ ทั้งส่วนกลาง กทม. และส่วนภูมิภาค ประจำสภาทนายความจังหวัดต่างๆ ในภาค 1-9 รองรับการแจ้งให้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สภาทนายความพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการจับกุมของพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าสิทธิของผู้ต้องหาควรเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว หลังจับกุมทนายความควรเข้าไปมีบทบาท เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”  

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนเมื่อมีการร้องเรียน ศูนย์ช่วยเหลือฯจะตั้งคณะทำงานขึ้นสอบข้อเท็จจริง จากนั้นรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากยังไม่ดำเนินการ สภาทนายความจะใช้สิทธิ์เข้าไปเป็นทนายความให้กับผู้ร้อง พร้อมย้ำหลักการคัดเลือกว่าจะไม่มีเกณฑ์ต้องเป็นผู้ยากไร้ หรือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอเพียงเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กรณีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทารุณ ทำร้ายร่างกาย หรือขู่เข็ญ ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ ก็ยังสามารถมาร้องเรียนที่ศูนย์ช่วยเหลือฯ ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดแล้ว โดยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือข้อหาทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

ด้าน นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ ระบุ ลักษณะพิเศษของกฎหมายที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ การไม่ยกเว้นให้สิทธิคนในเครื่องแบบ ทำให้แม้เป็นทหาร แต่เมื่อกระทำความผิดโดยไม่มีพลเรือนก็จะไม่ได้ขึ้นศาลทหาร แต่ต้องขึ้นศาลพลเรือน ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบความโปร่งใส ถือเป็นบทบัญญัติพิเศษ

ขณะที่ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ เผยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกฎหมายสำคัญที่จะมีผลกับกระบวนการพิจารณาที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันก็คือ ให้ความรู้กับประชาชนในระดับจังหวัดให้เข้าถึงเจตนารมณ์ด้วย

สำหรับอำนาจหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือ ประกอบด้วย 1.รับแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมายในเหตุการณ์ทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย 2.ให้ความช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

3.ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตามกฎหมายฉบับดังกล่าว 4.ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5.เสนอความเห็นต่อสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 6. กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปราม

7.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อเสนอสภาทนายความและคณะกรรมการฯ และ 8.หน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ

ในช่วงชีวิตของคน ไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับการกระทำ “นอกรีต” แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ การมีช่องทางช่วยเหลือจึงเรื่องจำเป็น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]