อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายเสื่อมถอยลงปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในตัวเอง และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อย่างการหกล้มในผู้สูงอายุที่พบมาก โดยข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าคนไทย อายุเกิน 60 ปี เสียชีวิตจากการหกล้มราว 1,600 คนต่อปี เรียกว่ามากกว่าอุบัติเหตุจากท้องถนน โดยผู้ชาย 60% หกล้มนอกบ้าน ผู้หญิง 55% หกล้มในบ้าน เพศหญิงหกล้มมากกว่าเพศชาย 1.6 เท่า
สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน เช่น หน้ามืด เวียนหัว ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เรียกว่าเป็นปัจจัยภายในจากสุขภาพ 80% ปัจจัยจากภายนอก 20% อาการหลังหกล้มที่พบคือศีรษะแตก เลือดออกในสมอง ฟกช้ำ ปวดหลังรุนแรง อาจถึงกระดูกหัก บางส่วนต้องนั่งรถเข็น และ 20% ของผู้สูงอายุ หกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก มีโอกาสเสียชีวิตได้ใน 1 ปี
“พญ.เมธินี ไหมแพง” รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยการหกล้มของผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพของร่างกายจากอายุที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวางข้าวของกีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การใช้ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ในส่วนของการแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการฝึกเดินที่ถูกต้อง สวมรองเท้าที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว การสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเมื่อต้องใช้ยาควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า
การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การค่อย ๆ ลุกยืนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืนหรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ปัญหานี้ของผู้สูงอายุ ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจฉุกเฉินจากการหกล้ม รวมถึงปัญหาผลกระทบระยะยาว ในส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพ ทำแคมเปญ “ล้มหนึ่งครั้ง ลามเกินหนึ่งเจ็บ” เพื่อรองรับกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังและอุบัติเหตุได้สูงกว่ากลุ่มอื่น โดยต้องมีทีมแพทย์และบุคลากรสหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุจากการล้มตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูก สมอง หัวใจ
และหลอดเลือด แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อหากเกิดอุบัติเหตุจะรีบวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด อาการทุเลาได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม “รุกก่อนล้ม…ป้องกันก่อนลาม” ให้ความรู้และประเมินความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและจัดเวิร์กช็อป “ล้มอย่างไรให้ปลอดภัย” ให้กับประชาชนที่สนใจ ซึ่งที่ต้องจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้ อวัยวะของเรามีความสัมพันธ์กัน เมื่อบาดเจ็บจุดหนึ่งอาจส่งผลต่ออวัยวะอื่น เช่น ล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก หรือศีรษะแตกเลือดออกในสมองนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ นอนติดเตียง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลตั้งแต่นาทีแรกที่เกิดอุบัติเหตุ
พญ.เมธินี กล่าวต่อว่า การตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเฉพาะก็สำคัญ เช่น ชุดตรวจสุขภาพสมอง หัวใจ ชุดประเมินความเสี่ยงกระดูกพรุน ชุดตรวจประเมินความเสี่ยงล้มในผู้สูงวัย พร้อมให้ข้อมูลสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือเตรียมตัวเข้าการเป็นผู้สูงวัย ใน bangkokhospital.com/silver-age ตลอดจน facebook.com/BangkokHospital และ Social Media อื่น ๆ ได้ที่ linktr.ee/bangkok
hospital หรือฉุกเฉิน โทร. 1724
การเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งตัวผู้สูงอายุเองทั้งบุตรหลานเองต้องร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อความสุขในครอบครัว แต่ปัญหาที่จะตามมาต่อไป จากที่มีอัตราการเกิดต่ำคือจะมีผู้สูงอายุที่เป็นโสดมากขึ้น ตรงนี้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองควรคิดนโยบายอะไรสำหรับผู้สูงอายุที่จะต้องอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น.
อภิวรรณ เสาเวียง