ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเจ้าท่า (จท.) แจ้งว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีหลายรูปแบบในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งแบบใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง ได้แก่ การเสริมทราย และรูปแบบผสมผสาน การจะเลือกใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ ลักษณะทางธรณีวิทยา สภาพอุตุนิยมวิทยา กระแสคลื่นลมในทะเล สาเหตุของปัญหา การใช้ประโยชน์และการยอมรับของประชาชนผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่นั้น ๆ
รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการไปแล้ว สามารถแก้ปัญหาได้และเห็นผลได้อย่างชัดเจน ชายฝั่งหยุดการกัดเซาะ เพิ่มพื้นที่ชายหาดสำหรับใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพประมง การท่องเที่ยว และสันทนาการ ส่วนปัญหาการกัดเซาะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ คลื่นลมมรสุม กระแสลมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จในคราวเดียวได้ มีความจำเป็นต้องติดตาม เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ปี พ.ศ. 2456 มาตรา 120 ให้เจ้าท่าดูแล รักษา แม่น้ำลำคลอง และชายฝั่งทะเลภายในประเทศ โดยได้ดำเนินการ ตามหลักวิชาการ กฎหมาย ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ครบถ้วนตามขั้นตอน สอดคล้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
นอกจากนี้กรมเจ้าท่า มีการบูรณาการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี พ.ศ.2558 ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
และกรมเจ้าท่า มีผู้แทนเข้าร่วมคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติให้ความเห็นชอบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป