เช่นเดียวกับปลาหมอสีคางดำ ที่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกว่า ได้ลงทุนเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ โดยสูบน้ำทะเลเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ปกติจะมีสัตว์น้ำธรรมชาติติดเข้ามาด้วยถือเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรริมทะเลซึ่งเป็นเรื่องปกติ หลังจากสูบน้ำเข้ามาพักไว้ระยะหนึ่งก็ซื้อลูกกุ้งขาว จำนวน 7 แสนตัว เป็นเงินหลายหมื่นบาทมาปล่อย และเลี้ยงด้วยอาหาร ต่อมาเริ่มสังเกตเห็นมีปลาหมอตัวโต ๆ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่ก็เข้าใจว่าน่าจะตามน้ำเข้ามาตอนสูบน้ำเข้าบ่อ ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นกุ้งน้อยลง หลังผ่านไป 6 เดือนได้เวลาจับกุ้งที่เลี้ยงไว้ จึงระดมคนงานวิดบ่อ ลมแทบจับไม่ได้กุ้งเลยแม้แต่ตัวเดียว แต่กลับได้ปลาหมอสีคางดำถึง 5,300 กิโลกรัม มีผู้มาซื้อไปทำปลาร้าและอาหารสัตว์ให้ราคากิโลกรัมละ 4 บาท 50 สตางค์ ได้เงิน 23,850 บาท ทำให้ขาดทุนและต้องเป็นหนี้สินมาจนปัจจุบันยังใช้ไม่หมดจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ประมงให้มาตรวจสอบ และทราบต่อมาว่าปลาหมอสีคางดำ เป็นปลากินสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ตัวเล็ก ๆ เช่นลูกปลาและกุ้งเป็นอาหาร คล้ายเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่มาทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น มีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง ก้างเยอะ และกินไม่อร่อย จึงไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน

นายปัญญา โตกทอง อายุ 65 ปี ชาว ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บอกว่า ตนเคยไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรื่องปลาหมอสีคางดํา ปัญหาเก่าคือเรื่องปลาหมอสีคางดำ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และถ้านำพันธุ์ใหม่เข้ามาอีกจะเกิดปัญหาอะไรตามมา ที่สำคัญชาวบ้านรู้ไหมว่าคุณเอาอะไรเข้ามา รอบคอบกันไหม ตัวอย่างที่ผ่านมา เราถามว่าชาวบ้านทราบเรื่องนี้ และคุณมาทําความเข้าใจเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า เช่นชาว ต.ยี่สาร เขารู้ไหมว่าขณะนี้มีปลาพันธุ์นี้เข้ามาแล้ว มีใครมาให้ความมั่นใจเขาในข้อวิตกกังวลบ้าง

เมื่อถามว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องปลาหมอสีคางดำอยู่ไหม

นายปัญญา ตอบว่า ปลาหมอสีคางดํา หรือปลาหมอคางดำ ที่มีผู้นําเข้ามาเมื่อปี 2548 เนื่องจากช่วงนั้นปลานิล และปลาทับทิมตายจำนวนมาก ก็มีนักวิชาการไปเอาปลาต่างถิ่นมาปรับปรุงสายพันธุ์ จึงไปเอาปลาหมอสีคางดําเข้ามา แล้วมันก็เริ่มระบาด แต่ทางบริษัทฯ ตอบกับกรมประมงว่าเขาได้ฆ่าปลาหมดแล้วและฝังกลบด้วยปูนขาว แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทําจริงหรือไม่ แล้วปลาหมอคางดำก็เริ่มระบาดในปี 2551 และแพร่ระบาดหนักปี 2552 จากยี่สารไปทั้งน้ำจืดทั้งน้ำเค็ม เลยไปถึง จ.เพชรบุรี มีทั่วไปหมด แล้วตอนนี้กุ้งก็ไม่เหลือปลาธรรมชาติก็น้อยลง มันเป็นปลาต่างถิ่นเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มันมายึดบ้าน เช่น ปลาหมอเทศของไทยสูญพันธุ์ไปเลยถูกยึดบ้านไปแล้ว ทุกแหล่งน้ำมีแต่ปลาหมอสีคางดํา ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ถ้าเอาปลาใหม่เข้ามาอีก ก็เป็นข้อวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่เขาต้องเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา และถูกปลาหมอสีคางดำ รบกวนต้องคอยกำจัดเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น บางครั้งก็ขาดทุน ทุกวันนี้ต้องเป็นหนี้สินบางคนกู้เงินกลุ่มสัจจะมาเป็น 10 ปี แล้วยังใช้หนี้กันไม่หมดก็มี.

มานพ จันทร์ฤทธิ์