ขณะนี้มีอุโมงค์รถไฟที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟท. 7 แห่ง อุโมงค์ขุนตาน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสถานีแม่ตานน้อย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และสถานีขุนตาน อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในไทย 1,352 เมตร (1.5 กม.) เปิดใช้งานในปัจจุบัน โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 2461

โครงการรถไฟทางคู่ทำให้ก่อสร้างอุโมงค์เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ เช่น อุโมงค์พุทธฉาย ในเขต จ.สระบุรี เป็นอุโมงค์คู่ยาว 1,222 เมตร (1.2 กม.) แห่งแรกของไทยด้วยการสร้างแบบการระเบิดวิธี (NATM) โดยระเบิดไปด้วยพร้อมก่อสร้าง และรถไฟยังวิ่งให้บริการด้วย ถือเป็นการก่อสร้างที่ท้าทายมาก เปิดให้บริการเมื่อปี 2560 เฉพาะขบวนรถขนส่งสินค้า 

นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์รถไฟทางคู่สายอีสานช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ (ผาเสด็จ-หินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี) ลอดเทือกเขาดงพญาเย็น ยาว 5,850 เมตร (5.85 กม.) ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จยังไม่เปิดใช้งาน จะเปิดให้บริการประมาณปี 2567 ถูกโค่นแชมป์ความยาวด้วยอุโมงค์รถไฟสายใหม่ สายเหนือเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ตัวอุโมงค์พาดผ่าน 2 จังหวัด บริเวณ อ.สอง จ.แพร่ และ อ.งาว จ.ลำปาง ลอดดอยแปเมือง เขตอทุยานแห่งชาติแม่ยม ยาว 6.2 กม. จะเริ่มก่อสร้างเร็ว ๆ นี้  

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต อุโมงค์รถไฟแห่งนี้จะโดนทำลายสถิติอีก ด้วยโครงการรถไฟสายใหม่เด่นชัย-เชียงใหม่ ซึ่งออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีอุโมงค์รถไฟยาวถึง 7,272 เมตร (7.27 กม.) ใกล้กับอุโมงค์ขุนตาน หากโครงการได้ก่อสร้างจะยืน 1 สุดยิ่งใหญ่ เป็นอุโมงค์ยาวที่สุดในไทย 

การเปิดให้บริการอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวหลาย กม. ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ รฟท. ต้องเตรียมมาตรการกู้ภัย เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับ ทางรถไฟเส้นใหม่สายเหนือเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เพิ่งเริ่มงานก่อสร้างไปได้ไม่นาน งานโยธา 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย 135 กม. และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ  84 กม. ภาพรวมมีความก้าวหน้า 0.75%  เป็นไปตามแผนงานที่ รฟท.วางไว้ 

ในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย 135 กม. มีงานก่อสร้างอุโมงค์คู่รางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง down track (ฝั่งขวา) และ up track (ฝั่งซ้าย) ความยาวฝั่งละ 2,700 เมตร (รวมทั้งหมด 5,400 เมตร) ประกอบด้วยเนื้องานชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัดคือ ลำปาง และพะเยา ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภท คือ ทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ (equipment room) 4 แห่ง  ริ่มขุดอุโมงค์ฝั่งเหนือแล้วประมาณ 4 เมตร นับเป็นผลงาน 0.15% หลังลุยงาน 10 วัน ทั้งฝั่ง up track และ down track อยู่ในขั้นตอนการขุดครึ่งส่วนบนของหน้าตัดอุโมงค์ (top heading) และติดตั้งระบบค้ำยันดิน (primary support)

รฟท. ได้เร่งรัดงานเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กันไป เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างได้ตามแผน โดยทั้ง 3 สัญญามีพื้นที่เวนคืนฯ รวม 8,665 แปลง 12,076 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน สปก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่น ๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ เริ่มทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนในโครงการฯ แล้วสัญญาที่ 1 มีความก้าวหน้า 54% สัญญาที่ 2 ก้าวหน้า 29% และสัญญาที่ 3 ก้าวหน้า 49% 

รถไฟสายใหม่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดเส้นทาง จะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากจุดเริ่มต้นสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จ.เชียงราย ปลายทางบรรจบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในอนาคตจะพัฒนาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ รูปแบบเป็นรถไฟทางคู่ใหม่ขนานกันตลอดเส้นทาง มี 26 สถานี มีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ 

การก่อสร้างไม่มีจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ เพื่อความปลอดภัย ออกแบบรั้วกั้นเขตตลอดแนวเส้นทาง พร้อมสะพานข้ามทางรถไฟ สะพานข้ามถนน ถนนลอดทางรถไฟ สะพานลอย ทางเท้า ทางรถจักรยานยนต์ข้าม และลอดทางรถไฟ รวม 254 จุด ขณะเดียวกันยังออกแบบสถานีต่าง ๆ ให้สวยงาม สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ สถานีไร่เชิญตะวัน จะนำวัสดุธรรมชาติประเภทไม้ไผ่ มาใช้ออกแบบโครงสร้างเสา โครงหลังคา ลวดลายประดับ และนำรูปแบบของประตูชัย ประตูด้านในของไร่เชิญตะวันมาออกแบบเป็นอาคารพักคอย บริเวณป้ายหยุดรถไฟด้วย 

ทุกสถานียึดหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสถานี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย และเท่าเทียมกัน พร้อมกันนี้ ยังสร้างคุณค่าในตัวสถานีด้วยการจัดพื้นที่ห้องโถงสถานีแสดงผลงานของเหล่าจิตรกรประจำจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงรายด้วย

โครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการปี 2571 ช่วยลดระยะเวลาเดินทางได้เร็วกว่า 1-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ เป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน 

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์