มาถึงวันนี้มีการคลี่คลายได้ในระดับไหนอย่างไรแล้วก็ดังที่ทราบ ๆ กัน… อย่างไรก็ตาม อันสืบเนื่องจากการเกิดเรื่องราวดังกล่าวนี้ นอกจากคดีความเฉพาะในส่วนคดีนี้แล้ว กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็ยัง “สะท้อนแง่มุมปัญหา” หรือ “ฉายภาพอีกหนึ่งปัญหา” ที่เกิดมากในสังคมไทยยุคนี้…

นี่ก็ชี้ “ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม”

ที่ “กลไกแก้ปัญหาที่มียังคงมีปัญหา”

ทั้งในแง่ของการ “เข้าถึง” และ “ทั่วถึง”

ทั้งนี้ จากกรณีครึกโครมที่เป็นอีกกระแสซึ่งสังคมไทยให้ความสนใจติดตาม…กรณีหนูน้อยวัย 8 เดือนหายตัวไปจากครอบครัวแบบมีเงื่อนงำปริศนานั้น จากกรณีนี้เรื่องนี้ก็มี “มุมสะท้อนเชิงสังคมที่น่าพิจารณา” จากทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่วิเคราะห์และชี้ให้เห็น “ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน” ในภาพรวม โดยได้ระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… กรณี “การใช้ความรุนแรงต่อลูกโดยแม่วัยรุ่น-แม่วัยใส” นั้น เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมากในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่าน ๆ มาได้เกิดกรณีทำนองนี้ในสังคมไทยอยู่เรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ และเมื่อความจริงเปิดเผย…

“ผู้เป็นแม่” มัก “ถูกสังคมประณามหนัก”

โดยที่ “ดูจะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้หญิง!!”

และเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ขยายความว่า… ทุกครั้งที่เกิดกรณี “แม่ฆ่าลูก-แม่ทำร้ายลูก” ขึ้นนั้น สังคมไทยมักพุ่งเป้าไปที่ผู้เป็นแม่เพียงคนเดียว แต่ไม่ได้มองไปที่บุคคลรอบข้างของผู้ที่ก่อเหตุซึ่งก็ล้วนแต่มีส่วนที่ทำให้เกิดปัจจัยกระตุ้น จนทำให้ผู้เป็นแม่ตัดสินใจลงมือก่อเหตุกับลูก?? ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่า…ไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้หญิง ทั้ง ๆ ที่ ผู้หญิงคนนั้นก็อาจเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกกระทำเช่นกัน อย่างกรณีแม่วัยรุ่น มีประวัติเคย “ถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก” อีกทั้งการ ต้อง “ตั้งครรภ์ในภาวะไม่พร้อม” โดย “ขาดการได้รับการดูแลที่ดี” นั้น…

นี่ก็อาจเป็น “สาเหตุ-ปัจจัย” ส่วนหนึ่ง

ทำให้เกิด “ความเครียด-แรงกดดันชีวิต”

ที่ “ส่งผลต่อการแสดงออก-พฤติกรรม”

“อยากให้สังคมมองให้รอบด้าน ซึ่งแม่วัยรุ่นในกรณีเช่นนี้ก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมไทย โดยปัจจัยที่ทำให้ปัญหานี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนตัวมองว่าเกิดจากปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจ 2 เรื่องที่สำคัญ” …ทาง จะเด็จ ระบุ

สำหรับ “ปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจ 2 เรื่อง” ที่ว่านั้น ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ขยายความว่า… เรื่องแรกคือ ปัญหาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ ที่ยังฝังรากลึกแน่นในสังคมผู้ชาย ทำให้ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายผู้เป็นแม่มักต้องเป็นผู้แบกรับภาระการเลี้ยงดูลูกอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งสังคมต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องนี้ใหม่ ด้วยการสร้างทัศนคติใหม่ให้ผู้ชายและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก-เลี้ยงดูเด็ก ป้องกันปัญหาจากการที่ผู้เป็นแม่ “ขาดทักษะเลี้ยงดูลูก” โดยเฉพาะ…

“แม่วัยรุ่น-แม่ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม”

ถัดมาเรื่องที่สอง คือ ปัญหาจากโครงสร้างกลไกสวัสดิการรัฐ ที่ในปัจจุบันแม้จะมีหลาย ๆ มาตรการออกมา แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว กลไกการช่วยเหลือของรัฐนั้น ยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึง-ยังไม่ทั่วถึง จนทำให้ “มีช่องโหว่” ที่ส่งผลให้ คุณแม่กลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ จากระบบและกลไกของภาครัฐได้เท่าที่ควรจะเป็น

“ยกตัวอย่าง เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท ที่ไม่พอเพียงกับค่าครองชีพในปัจจุบันแล้ว ยิ่งหากเป็นกรณีคุณแม่วัยใส ยังเป็นเยาวชน ที่ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีรายได้ ปัญหาจะยิ่งหนักขึ้น เพราะคุณแม่เหล่านี้ไม่มีรายได้เลี้ยงดูลูก ซึ่งส่งผลให้คุณแม่กลุ่มนี้เกิดภาวะเครียด ประกอบกับวัยและวุฒิภาวะที่ยังน้อย เมื่อทนแรงกดดันหรือความเครียดไม่ไหว ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจชั่ววูบทำเรื่องร้าย ๆ โดยขาดการยั้งคิด” ..ทาง จะเด็จ ชี้ “ปัจจัย”

ปัจจัยหนึ่งเกิดจาก “กลไกสวัสดิการรัฐ” 

ที่ “ยังดูแลได้ไม่ทั่วถึง-ยังไม่ตอบโจทย์”

ทั้งนี้ ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วยว่า… การที่จะทำให้ปัญหาลักษณะนี้ลดลงได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ผู้หญิงป้องกันตัวเอง…แต่จะต้องมีระบบและกลไกโอบอุ้มช่วยเหลือมากกว่านี้ในยามที่กลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้เผชิญปัญหา ซึ่งแน่นอนว่า สังคมไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายเด็ก…แต่สังคมก็ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ?? เพราะปัญหาเช่นนี้ที่เกิดขึ้นมานั้น…

มีปัจจัยที่…“มีใช่เพียงเพราะฝ่ายหญิง”

“ฝ่ายชาย ครอบครัว สังคม ก็เช่นกัน”

“จะแก้ปัญหา…ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน”.