ความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นหนึ่งในแกนกลางด้านนโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ ต่อเนื่องเป็นดวลานานหลายร้อยปี นโยบายดังกล่าวถือเป็นการแสดง “ความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ทั้งในทางการเมืองและการทหารของประเทศขนาดเล็กและตั้งอยู่กลางเทือกเขาแอลป์แห่งนี้ ที่มีประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ย้อนกลับไปถึงปี 2358 ตามที่ระบุอยู่ในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเกิดขึ้นหลังการสิ้นสุดสงครามนโปเลียน และเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรก ซึ่งให้การยอมรับความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์

การวางตัวเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ สวิตเซอร์แลนด์สามารถผ่านพ้นสงครามโลกทั้งสองครั้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับใคร หรือประกาศตัวว่า อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายใด เนื่องจากมีการระบุอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านอาวุธทุกรูปแบบ แต่เน้นย้ำว่า ประเทศแห่งนี้ต้องมีกองทัพ และชายสัญชาติสวิสต้องเข้ารับการฝึกอบรมทางทหาร

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ยังแข็งแกร่งและมีความมั่งคั่ง สวิสฟรังก์เป็นหนึ่งในค่าเงินมีเสถียรภาพที่สุดของโลก สวิตเซอร์แลนด์สามารถฝ่าฟันวิกฤติการเงินโลกทุกครั้งที่ผ่านด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับประเทศอื่นในภูมิภาค ด้วยการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ( อียู )

อนุสาวรีย์ “เก้าอี้ 3 ขา” หรือ “เก้าอี้ชำรุด” ตั้งตระหง่านอยู่ที่สำนักงานของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ณ เมืองเจนีวา

อย่างไรก็ตาม สถานะดังกล่าวของสวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญกับ “แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่สุด” เมื่อเริ่มมีการถกเถียงมากขึ้นในหลายแขนงของสังคมชาวสวิส ไม่เพียงแต่เฉพาะในทางการเมืองว่า “ความเป็นกลางคืออะไรกันแน่” ในยามที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไร้วี่แววว่า จะคลี่คลายเมื่อใดและด้วยหนทางแบบใด

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์ไม่เคยมอบความสนับสนุนด้านอาวุธให้แก่ยูเครน ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม การไม่อนุญาตให้ประเทศใดอาศัยสวิตเซอร์แลนด์เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธผ่านไปยังยูเครน และไม่อนุญาตให้มีการส่งอาวุธที่มีชิ้นส่วนผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ ต่อไปให้ยูเครนด้วย

ทางการสวิตเซอร์แลนด์ยืนยันว่า จุดยืนดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งยังคงตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของความเป็นกลาง แม้รัฐบาลเบิร์นร่วมออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ผู้สันทัดกรณีบางส่วนมองว่า เพื่อรักษาจุดยืนของการเป็นกลางเอาไว้ต่อไป การใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย “ต้องไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ” หรือ “แบ่งแยกฝ่าย” ด้วยเหตุนี้ จึงอาจนำไปสู่การกำหนดท่าทีว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่มอบความสนับสนุนด้านอาวุธให้แก่ยูเครนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องและแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่ยังคงถาโถมเข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของรัฐบาลเคียฟ ซึ่งยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้สวิตเซอร์แลนด์ปรับเปลี่ยนท่าที ขณะที่เยอรมนียังคงพยายามวิ่งเต้น ขอให้รัฐบาลเบิร์นเปิดทางให้สามารถส่งมอบรถถังที่มีส่วนประกอบผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ ให้แก่ยูเครนได้ กำลังสั่นคลอนจุดยืนของพรรคประชาชนสวิส ( เอสวีพี ) พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีนโยบาย “รักษาความเป็นกลางของชาติ”

บรรยากาศภายในสภาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ ที่กรุงเบิร์น

ตราบใดที่ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในสังคมสวิส ไม่ว่าสภาจะแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องออกมาในรูปแบบใด ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอาจต้องมีการตัดสินอีกครั้ง ด้วยการลงประชามติ ซึ่งถือเป็นกระบวนการตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยทางตรง ประชาชนมีสิทธิทั้งเสนอข้อเรียกร้อง และแสดงความเห็นต่อแนวนโยบายของภาครัฐ

หากมีการล่ารายชื่อชาวสวิสได้อย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ภายใน 100 วัน นับตั้งแต่สภามีมติ ซึ่งหากถึงขั้นนั้นจริง การปรับแก้กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน อาจต้องใช้เวลานานขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี

สถานการณ์ทั้งหมดบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา “ปรึกษากันเป็นการภายใน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งยูเครนและบรรดาพันธมิตรตะวันตกต้องตอบเองให้ได้เหมือนกันว่า “จะอดทนรอได้หรือเปล่า” แล้วที่สำคัญคือ ผลที่จะออกมายังยากแก่การคาดเดาด้วยว่า จะเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการหรือไม่ด้วย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, AFP