ผมจบแค่ ม.6 พอไม่ได้เรียนต่อ ก็มุ่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำเลย เริ่มจากเป็นลูกมือของช่างในโรงงาน อาศัยครูพักลักจำเอา เพราะเราไม่ได้เรียนจบทางด้านช่างมา ทำให้ต้องมานะ ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ๆ” เป็นเส้นทางของ “ชนินทร์ พัฒนแสง” ที่วันนี้เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ดินแดนริมแม่นํ้าโขง ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของเขาไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึงจุดเปลี่ยนชีวิตของเขา ซึ่งจากเด็กที่ได้เรียนถึงแค่ชั้น ม.6 แต่ก็ฝ่าฟันชีวิตจนสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ด้วยหนึ่งสมองกับสองมือ… วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้… “ต้นแบบแรงบันดาลใจสู้ชีวิต” อีกหนึ่งบท… 

ทั้งนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ได้มีโอกาสพบเจอกับ ชนินทร์ พัฒนแสง ผู้ประกอบการ ผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราจากวัสดุรีไซเคิล จากการติดตามคณะผู้บริหาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่นำโดย สุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของสมาชิกที่ได้รับการสนับสนุน โดยชนินทร์ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งสำหรับธุรกิจของเขาเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ้วยรองนํ้ายางพารากับลวดมัดถ้วยรองนํ้ายางพารา ที่มีแนวคิดนำนวัตกรรมมาช่วยเสริมศักยภาพ จนกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในวันนี้ โดยเขาเล่าว่า ธุรกิจของเขาเป็นการ นำพลาสติกเหลือทิ้ง เช่น กระสอบปุ๋ย มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนนำมาขึ้นรูปผลิตเป็นถ้วยรองนํ้ายางพาราจำหน่ายให้เกษตรกร โดยปัจจุบันธุรกิจเขาก็ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม แต่กว่าจะมาพบความสำเร็จในวันนี้ได้ เส้นทางชีวิตเขาก็ไม่ได้ปูไว้ด้วยกลีบกุหลาบ

“ผมมองว่าที่ทำนี้ตอบโจทย์ให้สังคมได้ในหลาย ๆ มิติด้วย มิติหนึ่งคือช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก อีกมิติคือช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร” ชนินทร์ บอกเราถึงมุมมอง พร้อมเล่าย้อนเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบ ม.6 ตอนนั้นอายุประมาณ 17-18 ปี เขาได้ตัดสินใจเดินทางเข้าหางานทำที่กรุงเทพฯ โดยเขาได้เข้าทำงานที่บริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าพลาสติกรายใหญ่ระดับประเทศรายหนึ่ง โดยเข้าทำงานเป็นช่างที่ทำหน้าที่คอยดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งเขาไม่เคยร่ำเรียนทางด้านช่างมา ทำให้ต้องเริ่มงานด้วยการไปเป็นลูกมือของช่างใหญ่ในโรงงานก่อน ซึ่งเวลานี้เองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะและวิชาเชิงช่างจากการครูพักลักจำ ด้วยการเฝ้ามองดูนายช่างใหญ่ประจำโรงงานทำงาน จากนั้นก็นำมาลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนเวลาผ่านไปก็เริ่มเกิดความชำนาญมากขึ้น จนเมื่อฝีมือดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีบริษัทแห่งหนึ่งมาติดต่อให้ไปทำงานเป็นนายช่างประจำโรงงาน

“เราไม่ได้เรียนช่างมา จึงต้องเริ่มจากเป็นลูกมือช่างไปก่อนเพื่อเรียนรู้วิชา แต่พวกช่างในโรงงานเขาจะไม่ได้สอนวิชาให้เราโดยตรง เราจะใช้วิธีดูเวลาที่เขาซ่อม โดยจดบันทึกและจำไว้ จากนั้นก็ลองนำมาฝึกฝนด้วยตัวเองอีกที จนชำนาญไม่แพ้กับคนที่เรียนจบมาทางด้านช่าง เรียกว่าแค่ฟังเสียงก็รู้เลยว่ามีปัญหาจุดไหน” เขาระบุเรื่องนี้

วัตถุดิบผลิตถ้วยจากการรีไซเคิล

จากเส้นทางลูกมือของช่างซ่อมเครื่องจักรในโรงงาน จนพัฒนากลายเป็นนายช่างใหญ่ เป็นหัวหน้าของช่างในโรงงาน ทำให้เขาได้รับเลือกจากบริษัทส่งตัวไปดูแลเครื่องจักรของบริษัทที่ไต้หวัน โดยเขาได้ไปประจำที่นั่นนานเกือบ 2 ปี แล้วกลับมาประจำที่ประเทศไทย ซึ่งช่วงนี้เองที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะอยากจะมีธุรกิจของตัวเอง ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราและลวดรัดถ้วยรองนํ้ายางพาราในปัจจุบัน โดย ชนินทร์ ได้เล่าว่า ก่อนจะลาออก ตอนนั้นทำงานได้ค่าแรงวันละ 700 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับการทำงานในสมัยนั้น แต่ด้วยความที่เขาอยากมีธุรกิจของตัวเอง เพราะมองว่าตอนนั้นที่ จ.บึงกาฬ กำลังบูมเรื่องยางพารา ซึ่งราคายางพาราดีมาก เขาจึงรับซื้อก้อนยางก้นถ้วยเพื่อนำไปขาย ซึ่งก็ได้กำไรดี และหลังจากทำธุรกิจรับซื้อยางก้นถ้วยตามสวนยางไปสักระยะหนึ่ง เขาก็ได้มองเห็นปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ นั่นคือ ขาดแคลนถ้วยรองนํ้ายางพารา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หายากมากในพื้นที่ในขณะนั้น

หลังจากได้รับรู้ปัญหานี้ ชนินทร์บอกว่า เขาจึงมองเห็นโอกาสของตลาดถ้วยรองนํ้ายางพารา แต่ก็อยากจะเช็กข้อมูลให้แน่ใจมากขึ้น เขาจึงได้ค้นคว้าและสำรวจจนพบว่าตอนนั้นที่ จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมดราว 1,600,000 ไร่ ซึ่งใน 1 ไร่จะมีการปลูกต้นยางพาราประมาณ 80-90 ต้น สะท้อนว่าตลาดมีความต้องการใช้งานถ้วยรองนํ้ายางพาราสูง เขาจึงเกิดความคิดที่จะผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราขาย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถนัดที่สุด เนื่องจากมีประสบการณ์ในโรงงานผลิตสินค้าประเภทพลาสติกมานานกว่า 20 ปี ทำให้เขาตัดสินใจนำเงินเก็บที่มีจำนวน 300,000 บาท มาลงทุนซื้อเครื่องจักรมือ 2 และเปิดโรงงานผลิต

บรรยากาศการทำงานรีไซเคิล

“ผมเริ่มทำธุรกิจนี้จากการทำด้วยตัวเองคนเดียว เรียกว่าทำคนเดียวทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ผลิตเอง วิ่งหาลูกค้าเอง โดยช่วงแรก ๆ ผลิตถ้วยรองนํ้ายางได้แค่ 2,500 ใบต่อวัน จากเครื่องจักรที่มีเพียง 1 เครื่อง ก็สู้กัดฟันทำแบบนี้อยู่ 2 ปี จนเริ่มมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ผลิตไม่ทันกับความต้องการ จึงตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มอีก 1 เครื่อง แต่ก็ยังทำได้ไม่ทันความต้องการอยู่ดี จนตัดสินใจเพิ่มเครื่องจักรเป็น 4 เครื่อง และขยายเป็น 15 เครื่องเมื่อปี 2564 และก็เริ่มมีการส่งไม้ต่อให้กับลูกชาย (สุขสันต์ พัฒนแสง) ที่เพิ่งเรียนจบมาในขณะนั้น โดยให้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจนี้” ชนินทร์เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับ “จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง” ของเขา

ชนินทร์ เล่าต่อไปว่า จริง ๆ ลูกชายของเขาเรียนจบทางด้านรัฐศาสตร์ และลูกชายก็สอบติดตำแหน่งปลัดแล้วด้วย แต่ที่สุดก็เลือกที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจของเขา ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาและภรรยาก็ไม่ได้บังคับว่าลูกจะต้องมาช่วยธุรกิจ แต่เป็นลูกชายเองที่ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง… “เราก็ถามว่าคิดดีแล้วหรือ ลูกชายเขาก็บอกว่าเหตุผลที่เขาอยากกลับมาสานต่อธุรกิจของเรา เพราะเขาอยากทำธุรกิจของตัวเอง อยากเป็นเจ้านายตัวเองมากกว่า” เขาบอกเล่าเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม

ก่อนจะบอกว่า ตอนนี้ธุรกิจของเขาได้ยกให้ลูกชายเป็นคนดูแลทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการตลาด การผลิต การขาย ส่วนตัวของชนินทร์เองนั้นก็ทำหน้าที่ในการดูแลจัดการด้านเครื่องจักรในการผลิตเพียงอย่างเดียว ซึ่งในฐานะที่ได้ “ส่งไม้ต่อธุรกิจให้คนรุ่นใหม่” กับลูกชายของเขาเองนั้น เขามองว่า การที่ลูกชายเข้ามาแตะมือคนรุ่นเก่าอย่างเขา ทำให้ธุรกิจได้ประโยชน์ในเรื่องการต่อยอดมากขึ้น โดยลูกชายได้นำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ด้วยการบริหารจัดการดูแลควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในโรงงานด้วย โดยหนึ่งในนั้นที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้ได้ นั่นก็คือการ “นำกระบวนการรีไซเคิลเข้ามาใช้”

กับภรรยาและลูกชาย

“ลูกชายเขาเริ่มศึกษาการรีไซเคิล ตั้งแต่การหาสูตรส่วนผสม และนำมาลองผิดลองถูกอยู่ 2 ปี จนในที่สุดก็สามารถทำผลิตภัณฑ์ถ้วยรองนํ้ายางพาราที่มีคุณภาพได้สำเร็จตามที่ต้องการ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ในเรื่องของการลดต้นทุนได้มาก เช่น ถ้าเป็นถ้วยรองนํ้ายางพาราเบอร์ 5 ถ้าไม่ใช้วัตถุดิบจากการรีไซเคิลจะมีต้นทุนต่อถ้วยอยู่ที่ประมาณ 1.70 บาท แต่ถ้าหากใช้วัตถุดิบรีไซเคิลต้นทุนบวกค่าแรงจะอยู่ที่ไม่เกินถ้วยละ 50 สตางค์ อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนจะลดลง แต่คุณภาพสินค้าก็ห้ามด้อยลง เพราะคือจุดแข็งของการทำธุรกิจ” ชนินทร์กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานของชนินทร์สามารถผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราได้ถึง 52,000 ใบต่อวัน แต่กระนั้นก็ยังเกิดปัญหาบางอย่าง เนื่องจากส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะสั่งออร์เดอร์ในช่วงเดือน พ.ค. เข้ามาพร้อม ๆ กัน ทำให้ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมากให้เพียงพอกับความต้องการ แต่ปัญหาคือก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถทำสต๊อกได้เพียงพอ จนเมื่อได้รับการสนับสนุนทุน 15 ล้านบาทจาก ธ.ก.ส. ที่มี “สินเชื่อเสริมแกร่ง SME” สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่นำเทคโนโลยี-นวัตกรรมมาใช้ลดต้นทุน หรือนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 จึงนำเงินทุนก้อนนี้มาทำสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบ ทำให้ปัญหาที่เคยมีหายไป จนทำให้ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการ

คณะ ธ.ก.ส. เข้าเยี่ยมชม

“อีกเรื่องที่ดีใจคือ ธุรกิจเรามีส่วนช่วยจ้างงานคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งสินค้าอย่างลวดมัดถ้วยรองนํ้ายางพารานั้นจะใช้แรงงานในท้องถิ่นทั้งหมด โดยเป็นชาวบ้านในชุมชนประมาณ 200 กว่าคน จากทั้งหมด 3 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้วันละประมาณ 450 บาทต่อคน ซึ่งเงินทุนสนับสนุนที่ได้มาก้อนนี้ไม่เพียงทำให้ธุรกิจเหมือนติดปีก แต่ยังเกิดประโยชน์ไปถึงชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย นั่นคือทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง” ชนินทร์ ระบุเรื่องนี้ด้วยนํ้าเสียงภูมิใจ

ก่อนจบการสนทนากันวันนั้น “ชนินทร์ พัฒนแสง” ผู้ผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราจากวัสดุรีไซเคิล ภายใต้ชื่อ “สมบัติถ้วยเงิน” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ได้ย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่าเป้าหมายในอนาคตของเขาคือจะพยายามผลิตเม็ดพลาสติกจากวัตถุดิบรีไซเคิลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องซื้อเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งถ้าหากทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้อีกมาก แต่ยังจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีในราคาที่ถูกลง ทำให้ช่วยลดต้นทุนให้กับพี่น้องชาวสวนยางพาราด้วย และที่สำคัญหากสามารถขยายกำลังการผลิตถ้วยรองนํ้ายางพาราจากพลาสติกรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น กรณีนี้ยังถือว่าเป็นการ… “ช่วยลดปัญหาจากขยะพลาสติก-ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม…

ลดปัญหาให้ไทยและโลกไปในตัว”.

สุขสันต์ พัฒนแสง

‘นวัตกรรม’ ช่วย ‘เสริมแกร่ง’

สุขสันต์ พัฒนแสง ลูกชายของ ชนินทร์ ซึ่งเข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากคุณพ่อ บอกว่า ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจครอบครัว เขามองว่า ธุรกิจยุคนี้จำเป็นจะต้องนำเอาเรื่องของ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” เข้ามาใช้เพิ่มขึ้น และจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรจะมีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำเลย โดยเขาได้ยกตัวอย่างเรื่องนี้จากกระบวนการของโรงงานว่า จะเริ่มตั้งแต่การรับซื้อกระสอบพลาสติกหรือถุงปุ๋ยพลาสติกมา จากนั้นก็จะนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยตัวเองเพื่อแปรรูป จนกลายเป็นวัตถุดิบการผลิตที่สำคัญอย่างเม็ดพลาสติก จากนั้นก็จะนำเม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลนี้ไปผลิตเป็นถ้วยรองน้ำยางพารา ซึ่งสูตรการผสมพลาสติกของโรงงานนั้น เขาบอกว่าเป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเอง โดยต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 2 ปีในการค้นคว้าทดลองและพัฒนา โดยเขาย้ำทิ้งท้ายถึงแนวคิดน่าสนใจในการทำธุรกิจว่า… “ทำธุรกิจยุคนี้ เป็นนักธุรกิจอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นนักพัฒนา เป็นนวัตกร เป็นนักวิจัยไปด้วย ซึ่งวันนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน