“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ขอหยิบยกวงเสวนา เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลการเลือกตั้ง : บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย จัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และองค์กรภาคีเครือข่าย ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องจากฟิลิปปินส์ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานของสื่อมวลชน ที่มีความเสี่ยงต่อปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ ฟิลิปปินส์รับมือกับสิ่งนี้อย่างไร

คลีฟ วี อาร์เกวยเยส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอ ลา ซาลล์ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึง 3 แนวคิดหลักที่ทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันจากสื่อและไม่ตกเป็นเป้าข่าวลวง หรือข้อมูลบิดเบือนคือ 1.ทำไมต้องตอบสนอง หรือทำอย่างไรกับข้อมูลที่บิดเบือน 2.เราเข้าใกล้ข้อมูลนั้นมากขนาดไหน 3.สิ่งที่ต้องทำหลังจากเจอข้อมูลที่บิดเบือน 

การจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง การทำลายชื่อเสียงของบุคคล หรือสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรับข้อมูลและการปล่อยข่าวลวงเป็นสิ่งที่บั่นทอนการเลือกตั้ง

สำหรับการรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆ สามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ แบบหยาบและแบบขั้นสูง แบบหยาบคือการพิจารณาจากกลุ่มคน แต่แบบขั้นสูงเป็นแบบที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญทำให้เป็นไวรัลออกมา

อย่างไรก็ตาม การบิดเบือนข้อมูลของนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีดิสเครดิต ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการรับทราบเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปนั้น ทำให้เกิด Hatespeech ในเรื่องของกลุ่มชาติพันธ์ุและศาสนาต่าง ๆ

ส่วนการใช้แนวทางของสื่อเชิงพาณิชย์นั้น ต้องใช้การจัดวางรูปแบบระดับสูงถึงจะเข้าถึงสื่อที่เป็นเสรีได้ และจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความซับซ้อนในการแสดงออกที่เป็นเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อ สิ่งนี้จะทำให้เห็นการผสมผสานข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาล และผู้ที่อยู่ในภาคประชาสังคมและสื่อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เปราะบางมาก จำเป็นต้องมีผู้ที่เฝ้าระวังอย่าง “Watchdog” ในการจับตามองการทำงานทั้งภาครัฐและสื่อเอง

คลีฟ วี อาร์เกวยเยส กล่าวต่อว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริง การสกัดข่าวลวง และการรับมือกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปฏิบัติการเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบในหลายระดับและอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบั่นทอนความสุจริตของการเลือกตั้ง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2022

“สุดท้ายเราต้องเสริมสร้างความสามารถของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อ Shut Down คอนเทนต์ที่เป็นการบิดเบือนข้อมูล หรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทั้งยังต้องทำให้สามารถตรวจสอบที่มาของข้อมูลที่บิดเบือนได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางนโยบายและโครงสร้างในการทำงานให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด”

ขณะที่ อีวอน ซัว ถ่ายทอดประสบการณ์ก่อตั้งเว็บไซต์ www.tsek.ph ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นักวิชาการด้านสื่อและสื่อมวลชนหลายสำนักในฟิลิปปินส์ร่วมกันทำขึ้น เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการเมืองในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ปี 2019 และ 2022 ว่าเป็นตัวอย่างของความพยายามในการสกัดข่าวลวงช่วงหาเสียงเลือกตั้งของฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ระบุด้วยว่า ธรรมชาติของสื่อมวลชนจะมีการแข่งขันที่สูงมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความร่วมมือไว้ด้วยกัน ในเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างในฟิลิปปินส์เองมีสื่อมากถึง 46 ค่าย แต่ 7 ใน 10 สามารถบอกได้ว่ายังรับข้อมูลบางอย่างที่เป็นเท็จอยู่เป็นประจำ จึงทำให้เกิดการสร้าง http://www.tsek.ph แพลตฟอร์มที่จะใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง นับเป็นมิติใหม่ที่สื่อมวลชนจากหลายสำนักทั้งภาควิชาการและภาคสังคมเป็นผู้ให้การสนับสนุน

อีวอน ซัว ยอมรับแม้ในการทำงานของ www.tsek.ph จะมีอุปสรรคและไม่บรรลุเป้าหมายบางด้าน แต่ยังมีความเชื่อว่าหากได้เริ่มพัฒนาทักษะในการตรวจสอบและหักล้างข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมทั้งทำให้ประชาชนรู้เท่าทันข้อมูลในโลกออนไลน์มากขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีแล้ว

“ต้องอย่าลืมว่าการปล่อยข่าวปลอมนั้นเกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดมันได้ภายในวันเดียว สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายจะต้องไม่ยอมแพ้การตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้การเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงไปแล้ว”

ด้าน เจสัน อาร์ กอนซาเลซ ผอ.พรรคเสรีนิยม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ตนได้เห็นถึงอานุภาพการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง และเพื่อชักนำทัศนคติของผู้มีสิทธิออกเสียงช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2022

“ชาวฟิลิปปินส์ถูกถล่มด้วยคลื่นข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมเข้าใส่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมพูดได้ว่า การจงใจปล่อยข้อมูลเท็จ เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง”

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่าการเมืองไทยกับฟิลิปปินส์คล้ายกัน ตรงเป็นการเมืองแบบ “ตระกูลการเมือง” ตระกูลการเมืองมีผลต่อการได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ ดังนั้น จึงคาดได้ว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตระกูลการเมือง

ส่วน ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากการศึกษาและสังเกตการณ์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในโซเชียลไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบมีสองส่วนคือ ปฏิบัติการควบคุมข้อมูลข่าวสารและการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน.