สำหรับประเทศไทยหากพูดถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ ถนน อาคาร และชุมชนเมือง มีจุดใดบ้างที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องและ “ว่าที่” รัฐบาลสมัยหน้าควรใส่ใจพัฒนา “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” สอบถามข้อคิดเห็นกับ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งวิเคราะห์สภาพปัญหา พร้อมข้อเสนอหลายประเด็นน่าสนใจ
รศ.ดร.คมสัน เผยว่า ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และผลกระทบจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องนำ “จุดแข็ง” ทั้งด้านโครงสร้างคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคและการสื่อสารโทรคมนาคม การสาธารณสุข และซอฟต์พาวเวอร์ในมิติทางวัฒนธรรม รวมถึงจุดแข็งในการเป็นจุดหมายยอดนิยมของการท่องเที่ยวติดอันดับโลก คนไทยต้องร่วมใจกันทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสู่อนาคตด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และพลังความมุ่งมั่น
สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่าง ถนน อาคาร และการจัดการเมือง มองว่าต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่องใน 5 ประเด็นหลักได้แก่ 1.การพัฒนากายภาพของถนนสู่มาตรฐานระดับสากล หลายถนนใน กทม.และต่างจังหวัดมีลักษณะเป็น “คอขวด” ทำให้จราจรติดขัด และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ โดยความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว
แม้จะมีอุบัติเหตุแต่ต้องไม่ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต โดยใช้ระบบหรือเทคโนโลยีความปลอดภัยที่จะช่วยให้คนขับรอดชีวิต เช่น ในหลายประเทศปรับปรุงพื้นที่ข้างถนนให้มีพื้นที่ และอุปกรณ์รั้วรับแรงกระแทกจากรถที่ไถลออกนอกถนนหรือเกิดรถชนกัน ซึ่งจะทำให้คนขับยังมีโอกาสรอดชีวิต
2.การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเสริมประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางถนน เช่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยสร้างระบบไฟสัญญาณอัจฉริยะ โดยวิเคราะห์ข้อมูลการสัญจรและควบคุมสัญญาณไฟจราจร ผลการทดลองในยุโรปพบช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการจราจรได้ 10-15% ที่สำคัญช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและพลังงาน รวมทั้งลดปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นภัยคุกคามด้วย
– ระบบตีเส้นถนนเรืองแสงด้วยนวัตกรรม (Photo luminescent) ซึ่งเห็นได้ชัดทั้งกลางวัน และเจิดจ้าเวลากลางคืน ทำให้ผู้ขับรถ คนใช้ถนน หรือขี่จักรยานตามถนนในชนบท มองเห็นแม้ในยามที่แสงสลัวหรือมืดสนิท ใกล้ทางแยกทางโค้งก็เตรียมตัวได้ทัน ค่าใช้-จ่ายถูกกว่าไฟถนน โดยไม่ต้องก่อสร้างและบำรุงรักษาได้ง่ายกว่า
–การปรับปรุงพัฒนาทางเท้า เพื่อให้การสัญจรสะดวก ปลอดภัย และส่งเสริมทัศนียภาพของเมืองให้มีสุขลักษณะและสวยงาม ติดตามตรวจสอบความปลอดภัยในทางเท้า ทั้งในด้านการใช้วัสดุก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน ไม่เสียหายง่าย หรือแตกหักเป็นหลุม การบริหารจัดการติดตามซ่อมบำรุงอยู่เสมอ ไม่มีฝาท่อเปิดทิ้งไว้ ต้นไม้ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้ามาขวางทาง จนทำให้ผู้ใช้เส้นทางต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งเป็นอันตราย
3.การตรวจสอบมาตรฐานอาคารมีความเข้มงวด กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาอาคารทรุดถล่มหรือเกิดอันตราย เนื่องจากอาคารและตึกแถวในเมืองมีปริมาณมาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้อยู่อาศัยและประชาชน สาเหตุหลักมักจะมาจาก 1.การต่อเติมเพิ่มชั้นดาดฟ้า และติดตั้งป้ายโฆษณาที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ตึกทรุด หรือป้ายตกลงมา และ 2.การต่อเติมด้านหลังด้วยเสาเข็มที่ไม่ได้คำนวณเผื่อโครงสร้าง ทำให้อาคารทรุดไม่เท่ากัน ซึ่งการก่อสร้างต่อเติมที่ผิดระเบียบ และการตอกเสาเข็มที่ไม่ได้คำนวณเผื่อทรุดตัว ทำให้ตัวอาคารเอียงและพังทรุดลงมา
4.การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลด้วยหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โครงการหรือสิ่งก่อสร้างสาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าใช้บริการควรมีความแข็งแรง ทนทาน ปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ เพื่อรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมทั้งคนทั่วไป และกลุ่มเปราะบางได้แก่ เด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะได้อย่างสะดวกและเท่าเทียม
โครงการก่อสร้างทุกโครงการ ต้องมีความรัดกุม ดำเนินการอย่างโปร่งใส ประชาชนสามารถช่วยกันตรวจสอบได้ ทั้งการยกระดับมาตรการตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัย และข้อกำหนดทางกฎหมาย คำนึงถึงความปลอดภัยในการก่อสร้าง และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนโดยรอบ รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา คนงาน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนและผู้สัญจรที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือผู้ใช้บริการ เช่น ความปลอดภัยด้านสุขภาพ ร่างกาย ลดสร้างมลพิษทางเสียงและมลพิษทางอากาศ อันเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ป้องกันการพังถล่มของอุปกรณ์เครน หรือวัสดุคอนกรีตระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น
ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวหรืออยู่ใกล้รอยเลื่อน จำเป็นต้องเสริมศักยภาพให้ความรู้แก่ผู้รับเหมาหรือช่างท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ต้านแรงแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยพิบัติเดียวที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ล่วงหน้า ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
และ 5.การส่งเสริมระบบ BIM (Building Information Modeling) เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนแนวคิดโครงการ ออกแบบอาคาร หรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ การคำนวณขนาด สเปก และวัสดุก่อนการก่อสร้าง การบริหารจัดการระหว่างการก่อสร้าง จนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากร และการบำรุงรักษาหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรจากทุกฝ่ายทำงานบน “โมเดล” เดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน และมีการสร้างระบบ “ฐานข้อมูลดิจิทัลด้านอาคาร” ของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาเมืองน่าอยู่ (Livable Cities) และเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ในอนาคตด้วย
“หากมีการนำประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลเชิงวิชาการ และเทคโนโลยี จากหน่วยงานต่าง ๆ สร้างเป็นฐานข้อมูลชุดใหญ่ Big Data เพื่อนำมาบูรณาการวิเคราะห์และวางแผนร่วมกัน ตกผลึกเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอนาคต ในทุกมิติทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.คมสัน เสนอทิ้งท้าย.