ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ที่ไม่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายอี-เซอร์วิส กับสรรพากรแล้ว 49 ราย โดยมีทั้งรายเล็กรายใหญ่ประกอบกัน โดยมีรายใหญ่ที่คนไทยรู้จักดี เช่น เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล เฟซบุ๊ค ไมโครซอฟท์ ซูม อเมซอน ส่วนรายอื่นยังไม่ได้รับการยืนยันแต่คาดว่าจะทยอยเข้ามายื่นจดทะเบียนเช่นกัน เพื่อให้เริ่มเก็บภาษีได้ทันวันที่ 1 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่กรมสรรพากรสำรวจมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีทั้งหมดกว่า 100 ราย โดยล่าสุด เฟซบุ๊ค หนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลก ได้ประกาศเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้บริการโฆษณาในไทย ให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามอัตราท้องถิ่น ซึ่งในประเทศไทยจะเสียอยู่ที่อัตรา 7% นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การเก็บภาษี อี-เซอร์วิส จะเริ่มวันที่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นไป โดยจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ที่ไม่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ไม่เก็บกับผู้ประกอบการไทย หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่ต้องกังวล เพราะไม่เกี่ยวกับภาษีนี้ โดยมีรูปแบบที่ถูกเก็บภาษีออนไลน์จะมีอยู่ 5 ประเภท
ประกอบด้วย 1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น อเมซอน อีเบย์ 2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟสบุ๊ค ยูทูบ กูเกิล 3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ เช่น จองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน 4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งการเรียกเก็บค่าจีพีจากร้านค้า และ5.ธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลง หรือเกมออนไลน์
นายเอกนิติกล่าวว่า ประเด็นที่มีผู้เป็นห่วงจะมีการผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคหรือไม่นั้น จากการติดตามข้อมูลการเก็บภาษีอีเซอร์วิสจาก 60 ประเทศ พบว่ามีทั้งการผลักภาระ และไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค เช่น หากเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูงบริษัทอาจยอมเสียภาษีเองเพราะกลัวจะเสียลูกค้า แต่ถ้าธุรกิจรายใหญ่ ๆ ที่ไม่มีคู่แข่งก็อาจจะให้ผู้ซื้อผู้ใช้บริการเป็นคนเสียภาษีเอง หรือบางรายอาจแบ่งเสียภาษีกันคนละครึ่ง ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท รวมถึงสภาพการแข่งขันทางการค้า
อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการไทยรายใดที่เสียภาษีในส่วนนี้ ก็สามารถทำเรื่องหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือหักภาษีซื้อภาษีขายได้ เพราะการเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจบริการออนไลน์ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย หรือธุรกิจต่างชาติที่จดในทะเบียนในไทย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ผิดกับบริษัทต่างชาติที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ภาษี อี-เซอร์วิสจะช่วยให้รัฐเก็บรายได้เข้าคลังเพิ่มไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท