นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้บีโอไอกำลังหารือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมมือทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคต เนื่องจากพบว่า อุตสาหกรรมดาวเทียมที่อยู่เหนือพื้นโลกระยะ 200 กิโลเมตรกำลังมาแรงจะถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งไทยมีฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ รองรับ น่าจะขยับไปสู่ดาวเทียม อากาศยานในระยะยาวได้

“บีโอไออยู่ระหว่างพิจารณาผลักดันการทำแพ็กเกจส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคตร่วมกับจิสด้า หากเป็นไปได้จะพยายามให้เกิดเป็นรูปธรรมในปีนี้เพื่อที่จะนำไปชักชวนการลงทุนได้ในปี 65 แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่บอร์ดบีโอไอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นสำคัญ และเรื่องนี้ยังสอดรับกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ..ของไทยอีกด้วย และเวลานี้บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศ และให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของไทยเองก็มีศักยภาพโดยถือเป็น Tech Startup ของไทยที่บีโอไอส่งเสริมฯเพื่อให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และมีเครือข่ายต่างชาติ ที่จะดึงเข้ามา เพื่อร่วมมือกันที่จะใช้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนซึ่งแผนนี้เราก็มองระยะยาว”

นอกจากนี้บีโอไอเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์การลงทุน ให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ที่สรุปแล้วมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน ขนาดกิจการระดับ 1,000 ล้านบาท คาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้ปี 64 มีมูลค่าสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทแน่นอน 

“10 รายที่คุยและแน่นอนว่าจะมาลงทุนไทยแล้ว ก็ยังมีรายอื่นๆ อีกที่กำลังหารือซึ่งก็ยอมรับว่าสิ่งที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ระดับไมโครสิทธิประโยชน์ด้านภาษีฯ ที่มีอยู่ไม่จูงใจให้เข้ามากำลังดูว่าจะปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มและเพิ่มประเภทกิจการให้ครอบคลุมเพื่อดึงการลงทุนเพื่อเสนอบอร์ดบีโอไอเร็วๆนี้ ยอมรับว่า การออกไปโรดโชว์ในระยะต่อไปคงไม่ได้มองเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ฯแต่ต้องมองเรื่องอื่นๆประกอบด้วย เช่น การไปคู่กับสถาบันการศึกษาเพื่อเสนอให้เป็นแผนการผลิตแรงงานที่จะรองรับการลงทุนมากขึ้น ซึ่งมองว่า ไทยมีเสน่ห์เรื่อง คน ที่ถือว่า เป็นจุดแข็งเหนือคู่แข่ง เพราะคนไทยทำงานประสานร่วมกันง่ายเข้าใจกันดี”

ส่วนภาพรวมการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 64 คาดว่าจะมีมูลค่าระดับ 5 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์  เครื่องมือแพทย์ และพลังงานสะอาด และปีหน้าคาดว่า เกินกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยดีขึ้น เชื่อว่าในอีก 2 ปี การขอรับส่งเสริมการลงทุนจะกลับสู่ภาวะปกติระดับ 7 แสนล้านบาทได้