“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผอ.หลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งวิเคราะห์สภาพปัญหา พร้อมข้อเสนอแนะที่อาจผลักดันพรรคการเมืองให้ความสนใจนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นในการเลือกตั้ง
เทคโนโลยีส่วนหนึ่งของชีวิต-เผชิญโลกอาชญากรรมไซเบอร์
ดร.ภูษิต เผยว่า แต่ละคนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น และเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเดิมอาชญากรรมไซเบอร์มีให้เห็นกันอยู่ เช่น การส่งอีเมลปลอม บริษัทที่เป็นนิติบุคคลมักตกเป็นเป้าถูกแฮก ถูกเรียกค่าไถ่โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวประกันนิติบุคคลหรือเอกชนต้องเผชิญมากันบ้างแล้ว เพราะทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องใช้งาน แต่ปัจจุบันภัยไซเบอร์ลามมาถึงบุคคลธรรมดามากขึ้น
ขณะที่รัฐเองมีโครงการที่ต้องทำผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เมื่อทุกคนใช้ระบบนี้เหมือนกันหมด จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น
“สมัยก่อนมีแต่รายใหญ่ แต่ปัจจุบันมาเก็บรายย่อย ๆ เป็นเหยื่อในส่วนนิติบุคคลความยากคือ เป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจระบบระดับหนึ่งแต่ก็ยังโดน แล้ววันนี้มาเป็นบุคคลธรรมดาที่เดิมบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันธนาคาร ไม่ได้ใช้ไลน์ ไม่ได้ใช้อะไรพวกนี้ในชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลเองก็ทำผ่านระบบเหล่านี้ ทำให้พวกเรากลายเป็นเป้าหมายใหม่ ไม่ใช่ในไทยอย่างเดียว แต่รวมถึงต่างประเทศก็มีลักษณะแบบนี้เช่นกัน”
ดร.ภูษิต ขยายความเพิ่มเติมถึงวิถีชีวิตในอนาคตว่า คงไม่มีใครกลับไปเดินเข้าธนาคาร ไปเดินห้างเหมือนเดิม และอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ที่ใช้ซื้อสินค้าจะเป็นเรื่องปกติ ยังไม่รวมถึงกระแสเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นอาชญากรรมเช่นนี้จึงหนีไม่พ้น และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นแน่อน
ตั้งเจ้าภาพ-พัฒนากฎหมาย-ให้ความรู้พื้นฐาน
ดร.ภูษิต ยังชี้ถึงแนวทางจัดการปัญหาว่า ควรหาเจ้าภาพรับผิดชอบปัญหาโดยตรง ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นเรื่องสถาบันการเงินก็มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ หากเป็นเรื่องหลักทรัพย์ มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับผิดชอบอาชญากรรมทั่วไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบ เป็นต้น
ทั้งนี้ เข้าใจว่าเพราะอำนาจที่แฝงอยู่ในหลายหน่วยงาน แต่หากต้องจัดการจริงจังควรมีผู้รับผิดชอบหลักที่มีอำนาจตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดเพื่อให้กระบวนการไม่ล่าช้า ยกตัวอย่าง เมื่อมีปัญหาตามขั้นตอนต้องไปแจ้งความกับตำรวจก่อน ซึ่งในเวลานั้นธนาคารจะไปดำเนินการต่อ ก็ล่าช้าเกินไปแล้ว
นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวข้องทั้งหมดควรพัฒนาให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง วันนี้ต้องยอมรับว่าเพียงกดเลขผิด หรือกดพลาด ไม่เกิน 3 นาทีเงินก็หมดบัญชีได้
“คำถามคือกว่าจะไปแจ้งความ แจ้งธนาคาร กระบวนการเหล่านี้มันช้า สมัยก่อนทำได้เพราะไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต กว่าจะถอนต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้เพียงไม่ถึง 1 นาที เงินก็หมดบัญชีแล้ว ระบบและกฎหมายต้องเข้มข้นกับสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น”
ดร.ภูษิต ยังกล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ที่ผ่านมามีแต่ส่งเสริมให้ใช้แต่ไม่ได้ส่งเสริมพื้นฐานที่ไม่ควรทำเช่น ห้ามกดลิงก์ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะอาจถูกหลอกลวง ต้องมีหน่วยงานให้ความรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่าง สถานการณ์จากคนใกล้ตัวที่เป็นพนักงานธนาคารเล่าว่า มีผู้สูงอายุมาขอให้ช่วยถอนการติดตั้งแอปธนาคาร เพราะฟังข่าวแล้วกลัวถูกหลอก ข้อสังเกตคือเหตุใดจึงไม่ถอนการติดตั้งเอง คำตอบที่ได้คือถอนไม่เป็น ไม่กล้า กลัวเงินจะหมดบัญชีซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
เทคโนโลยีเหล่านี้ประโยชน์และโทษมาพร้อมกัน จำเป็นที่ต้องให้ความรู้ ให้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ เพราะปัจจุบันเด็กตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ต่างจากอดีตคือผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ นี่คือพัฒนาการของมิจฉาชีพที่รัฐบาลควรออกนโยบายให้มากขึ้น
นโยบายความปลอดภัยไซเบอร์
ดร.ภูษิต มองการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยไซเบอร์ใหม่ ควรต้องทำเป็นลำดับแรก ๆ เพื่อป้องปราม เช่น บัญชีม้าที่เป็นจุดเริ่มต้นวงจร เพียงเงิน 500 บาท ก็เปิดได้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่รู้ว่าเป็นความผิดและมีโทษ เรื่องกฎหมายต้องสะสางให้รัดกุมทันสมัย ครอบคลุมวิธีการโกงสมัยใหม่ที่ไม่เคยมีในอดีต
ที่สำคัญตั้งหน่วยรับผิดชอบให้ชัดเจน สถานการณ์ก็เหมือนการแพร่ระบาดโควิด ต่างคือนี่ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาชญากรรมต่อทรัพย์สินและทำลายอนาคตได้ แค่ตายทั้งเป็น
คาดหวังนโยบายเลือกตั้ง เปลี่ยนประเทศระยะยาว
ดร.ภูษิต ชี้ว่าเด็กรุ่นใหม่มีจำนวนมากขึ้น นโยบายที่จะเข้ามาจึงจำเป็น เดิมนโยบายหาเสียงเน้นแจก เป็นประชานิยม ซึ่งส่งผลดีกับเศรษฐกิจก็จริง แต่แค่ระยะสั้น ทุกวันนี้ประเทศขาดการวางยุทธศาสตร์บนเวทีโลกระยะยาว จึงไม่เห็นอนาคต ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเล็กกว่าประเทศไทยเยอะมาก แต่เพราะมีกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว อย่าง ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)ไม่ใช่หาเสียงไปวัน ๆ
หากบอกว่าประเทศไทยจะเป็นดิจิทัลอาเซียนก็ต้องมีแผน วันนี้ถึงเวลาต้องวางนโยบายที่ต้องการคือ การสร้างความแข็งแกร่ง ความสามารถแข่งขันของประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะดิจิทัล นวัตกรรม ล้วนจำเป็น
“เราต้องสอนให้คนตกปลาเป็น มากกว่าจะหาปลาให้พวกเขาอีกต่อไปแล้ว และเด็กรุ่นใหม่ก็ชอบนโยบายแบบนี้” ดร.ภูษิต ระบุ.