ปัจจุบันนโยบายส่วนใหญ่เน้นเศรษฐกิจ ปากท้อง ที่ดึงดูดความสนใจได้มากสุด เพราะต้องยอมรับว่าทุกการเลือกตั้งคือ “ความหวัง” ว่าประเทศจะดีขึ้น
สัปดาห์นี้ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนเปิดพื้นที่อีกด้าน กับการสะท้อนบางเรื่องราวที่ยังไม่ถูกพูดถึง หรือหยิบยกเป็นนโยบาย “เด่น” มากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ถึงความน่าสนใจในอนาคต
เมื่อการรับมืออย่างมีทิศทาง สำคัญกว่าการตามแก้ไขแน่นอน…
เปิดปมแรกจากเรื่องราวใกล้ตัว อย่าง “ความรุนแรงในครอบครัว” ต้นตอปัญหาที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงสังคม ไม่จบแค่ในครอบครัว “จะเด็จ เชาวน์วิไล” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้คลุกคลีกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศในผู้หญิง สะท้อนมุมมองที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และทิศทางที่การเมืองสามารถมีส่วนช่วย “จุดประกาย” การแก้ไขอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้
ดีกรีความรุนแรงเพิ่ม
จับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี จะเด็จ ชี้ว่าหากเทียบสถิติความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะความรนุ แรงในผู้หญิง ยังคงน่ากลัว ทั้งในครอบครัวและแบบคู่รัก แถมเพิ่มดีกรีทำร้ายร่างกาย จนถึงฆ่ากัน ลามถึงฆ่าลูก ฆ่าญาติ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์หนักขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ การไม่มีงานทำที่แน่นอน ผู้หญิง และเด็กมีโอกาสได้รับผลพวงถูกกระทำมากขึ้น
อีกทั้งมายาคติสังคมที่ไม่เปลี่ยน ยังมองปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้หญิงแทนการมองวา่ ทำไมัปญหายังคงดำรงอยู่ เป็นเพราะกลไกกฎหมายที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ตำรวจมีกฎหมายเป็นเครื่องมือแต่ไม่รับแจ้งความเพราะมองเป็นเรื่องในครอบครัว สังคมยังมองเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อยากยุ่งเกี่ยว/ช่วยเหลือด้วยหรือไม่
นโยบายเลือกตั้งครั้งนี้
เข้าใจว่าที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่เน้นไปที่วิกฤติเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ พรรคการเมืองจึงพุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาบทบาทผู้หญิงที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก อาจมีบ้างกระเส็นกระสาย แต่หากต้องการทำให้ดีขึ้นจริง พรรคการเมืองต้องมีนโยบายออกมาชัดเจน เช่น เพิ่มสวัสดิการ การทำให้ผู้หญิงอยู่อย่างปลอดภัย
“เท่าที่ดูคิดว่ายังไม่ค่อยแตะเรื่องเหล่านี้มากนัก หรืออาจคิดอยู่ แต่รอยุบสภาเลยพูดกันน้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ค่าแรง ซึ่งเข้าใจได้”
อย่างไรก็ตาม หากให้เสนอนโยบาย เชื่อว่าการยุติความรุนแรงในครอบครัวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายเรื่อง รวมถึงสภาพจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องดังกล่าว เด็กเป็นทรัพยากรมีค่า หากพรรคการเมืองเห็นความสำคัญก็ควรพุ่งเป้าปัญหาเหล่านี้
พร้อมเสนอแก้กฎหมายที่เป็นปัญหา เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประเด็นประนีประนอม และการให้น้ำหนักการรักษาความเป็นครอบครัว เนื้อหาเหล่านี้ควรแก้ไขเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าใจว่า เมื่อเกิดปัญหาครอบครัวให้ประนีประนอมก่อน โดยเนื้อหาใหม่ควรแก้ไขให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองจริง ๆ
นอกจากนี้ ควรบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานมากขึ้น เพื่อประโยชน์ทั้งผู้ที่ประสบปัญหาและป้องกันปัญหาในชุมชน และควรมีกองทุนเพื่อเยียวยาสนับสนุน เพราะบางคนไม่รู้จะร้องทุกข์กับใคร บางคนต้องหยุดงาน
“พรรคการเมืองควรทำประเด็นผู้หญิง เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายในอนาคต เป็นเรื่องหลักของประเทศ ต้องทำเป็นนโยบายจริงจัง แต่ละปีมีผู้หญิงเป็นหมื่นคนถูกทำร้ายนี่แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อาจมีเป็นแสนก็ได้”
หาเสียง “เศรษฐกิจพ่วงสังคม” เพิ่มความน่าสนใจ
จะเด็จ มองขณะนี้หากนโยบายพรรคการเมืองใดสนใจพูดเรื่องเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกันได้จะน่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมามักแก้แต่โจทย์เศรษฐกิจซึ่งเข้าใจได้ แต่การเพิ่มประเด็นสังคมและสวัสดิการประกอบไปด้วยจะยิ่งดี อาทิ การเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรอง การเพิ่มสวัสดิการในประเด็นครอบครัว เช่น เพิ่มวันลาคลอดได้ 180 วัน ผู้ชายลาช่วยเลี้ยงได้ 90 วัน การทำศูนย์เลี้ยงเด็ก เพิ่มเงินเลี้ยงดูให้ครอบครัว สุดท้ายคือความจำเป็นในการเพิ่มค่าแรง เพื่อให้มองเห็นอนาคต และต้องทำนโยบายที่เป็น “แพ็กเกจ” ไปด้วยกันแบบนี้.