คริส คอสตา อดีตผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายต่อต้านก่อการร้าย ในสมัยรัฐบาลสหรัฐชุดที่แล้ว ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า เมื่อต้องถอนทหารอเมริกันออกมาอย่างรวดเร็ว บวกกับการขึ้นสู่อำนาจอย่างทันทีทันควัน ของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน เขาคิดว่าอัล-เคดามีโอกาส และจะใช้ความได้เปรียบของโอกาสนี้ กระตุ้นให้มีนักรบเพื่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ไปทุกที่

การเคลื่อนไหวของอัล-เคดา ดูจะลดน้อยถอยลงไปในช่วง 20 ปี ของสงครามอัฟกานิสถาน และยังอีกห่างไกลที่จะชี้ได้ว่า อัล-เคดามีศักยภาพในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ ที่จะก่อการโจมตีครั้งใหญ่เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายสหรัฐนั้นได้เสริมกำลังป้องกันตัวเอง จากช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยงานด้านข่าวกรองและมาตรการเฝ้าระวังต่าง ๆ

Al Jazeera English

แต่รายงานเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แกนนำระดับอาวุโสของอัล-เคดา ยังพบเห็นได้ในอัฟกานิสถาน พร้อมด้วยฝ่ายปฏิบัติการติดอาวุธอีกนับร้อยคน เพราะตาลีบันคือผู้ให้ที่พักพิงแก่นักรบอัล-เคดา ก่อนการโจมตี 9/11 ยังคงมีความใกล้ชิดโดยพื้นฐานของมิตรภาพ ประวัติการต่อสู้ร่วมกัน ความคิดเห็นในอุดมการณ์ และการแต่งงานระหว่างสองฝ่าย

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ยอมรับว่า อัล-เคดายังมีอยู่ในอัฟกานิสถาน แม้จะบอกจำนวนนั้นยังยากอยู่ เพราะได้ลดประสิทธิภาพการเข้าถึงข่าวกรองในอัฟกานิสถานไปแล้ว และเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการแสดงบัตรประจำตัว และลงทะเบียนแสดงตนว่าเป็นใคร คือดูออกยาก

Al Jazeera English

แม้แต่ในอัฟกานิสถานเอง อัล-เคดากับตาลีบัน ยังคงแสดงให้เห็นถึงความกังวลเร่งด่วนในการก่อการร้ายให้กับสหรัฐ แม้จะมีหลักฐานเผยออกมาถึงความเป็นไปได้ ที่กลุ่มหัวรุนแรงไอเอสอาจโจมตีชาวอเมริกันในอัฟกานิสถาน ทำให้กองทัพสหรัฐต้องปรับทัพและหาแนวทางใหม่ ในการนำผู้อพยพไปให้ถึงสนามบินในกรุงคาบูล แม้ตาลีบันกับไอเอสเคยสู้กันในอดีต แต่ที่น่ากังวลในขณะนี้คืออัฟกานิสถานอาจเป็นที่พักพิงอันปลอดภัยอีกครั้ง สำหรับกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่ม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอยากโจมตีสหรัฐ หรือประเทศอื่น ๆ เพราะไม่มีทหารอเมริกันเหลืออีกแล้วนั่นเอง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยย้ำถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ศักยภาพไกลขอบฟ้า” เพราะจะสามารถช่วยให้สหรัฐอยู่ห่างไกลจากภัยคุกคามด้านก่อการร้าย ส่วนเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ บอกว่า ผู้นำสหรัฐบอกชัดเลยว่าศักยภาพในการต่อต้านก่อการร้าย ได้พัฒนามาถึงจุดที่ภัยคุกคามอาจกำราบได้ โดยไม่ต้องใช้กำลังพลในสนามรบ หน่วยงานข่าวกรองไม่เชื่อว่าอัล-เคดา ในขณะนี้มีศักยภาพที่จะโจมตีสหรัฐได้

สหรัฐยังคาดหวังว่าการตรวจตราอย่างหนาแน่นด้านความปลอดภัย และอุปกรณ์เฝ้าสังเกตการณ์ที่ทันสมัย จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อ 20 ปี ก่อนในการขัดขวางการก่อการร้าย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็วิตกว่า การรวบรวมข่าวกรองจำต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ เพื่อป้องกันการโจมตี ซึ่งจะมีผลในทางลบ เมื่อต้องถอนกำลังทหารออกไป

แต่ภัยคุกคามด้านก่อการร้ายอาจจะดูเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังเผชิญอยู่ก่อนการโจมตี 9/11 หนึ่งในนั้นคือการโจมตีไซเบอร์ล้ำสมัยจากจีนกับรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้สาธารณูปโภคประสบปัญหา หรือโจรกรรมข้อมูลความลับที่ละเอียดอ่อน ความทะเยอทะยานสู่การเป็นชาตินิวเคลียร์ของอิหร่าน และเหตุรุนแรงในประเทศเห็นได้จากการจลาจล โจมตีอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

ความกังวลยังคงดังสะท้อนไปทั่ว ในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากการประเมินสถานการณ์จนเชื่อได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายอย่างอัล-เคดา อาจกลับมาเติบโตได้เร็วกว่าที่คิด เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้นำในกระทรวงกลาโหมสหรัฐก็ยอมรับว่า กลุ่มหัวรุนแรงอย่างอัล-เคดาอาจจะกลับมาปฏิบัติการได้อีกจากในอัฟกานิสถาน และเป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดินมาตุภูมิของสหรัฐ ภายใน 2 ปีที่ทหารอเมริกันถอนกำลังกลับไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP