เมื่อวันที่ 26 ส.ค. น.ส.อังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “สิทธิและการรักษาดูแล เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19” ว่า ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค.2564 มีหญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2,327 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน อายุ 35 ปี ขึ้นไปติดเชื้อมากสุด โดยมารดาเสียชีวิต 53 ราย และทารกเสียชีวิต 23 ราย ทำคลอดไปแล้ว 1,129 ราย ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอดและคลอดก่อนกำหนดเกือบ 18% เทียบกับการคลอดก่อนกำหนดในสถานการณ์ปกติของไทยอยู่ที่ 1% ทั้งนี้ ปัจจัยการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด กว่า 70% เป็นข้อจำกัดภายในระบบบริการ 21% เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการ และ 9% เป็นปัญหาจากหญิงตั้งครรภ์เอง

น.ส.อังคณา กล่าวว่า ที่น่ากังวลคือพบหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนประมาณ 1.4 หมื่นคน หรือไม่ถึง 10% จากอัตราการตั้งครรภ์ทั้งประเทศ 5 แสนราย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ควรเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ มูลนิธิและเครือข่ายขอเสนอให้มีสายด่วนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เพื่อขอคำปรึกษา และได้รับการบริการที่รวดเร็ว รพ.ที่รับฝากครรภ์ต้องไม่ปฏิเสธการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด หากเกินศักยภาพขอให้ประสานส่งต่อไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม กรณีมารดาเสียชีวิตแต่ทารกรอด ทาง รพ.ต้องประสาน หรือจัดนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลต่อไป ขอให้สำนักงานประกันสังคมดูแลเรื่องการเยียวยา 5 พันบาทต่อเดือน นาน 6 เดือน และขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือด้านอื่นๆ หลังการคลอดด้วย เช่น ผ้าอ้อม นมผง เป็นต้น ทั้งนี้ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เวลา 10.30 น. จะไปยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอวัคซีนให้คนท้อง-อย่าเทอย่าทิ้งเรา”

ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ รพ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดประมาณ 2.5% ค่อนข้างสูง เทียบกับคนปกติที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิดไม่ถึง 1% ทั้งนี้พบว่าส่วนหนึ่งเสียชีวิตหลังคลอดตั้งแต่ 1 วัน-4 สัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่แม่ติดโควิดอยู่ที่ 40% โดยเฉพาะติดเชื้อตอนอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน หากติดเชื้อเมื่ออายุครรภ์มากกว่านี้ เด็กมีโอกาสรอดชีวิตจากวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ สาเหตุเพราะสภาพร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีความแตกต่างจากคนทั่วไป เมื่อติดเชื้อแล้วแม้จะได้รับการรักษาตามวิธีการมาตรฐานแต่ผลอาจจะไม่ดี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยฉีดวัคซีนที่มีไม่ว่าจะเป็นชนิดใดเพื่อป้องกันอาการรุนแรง และได้รับการซัพพอร์ตจากคนรอบข้างให้หญิงตั้งครรภ์สามารถเว้นระยะห่าง เลี่ยงการออกนอกบ้านได้อย่างแท้จริง 

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนนำเสนอปัญหาหญิงตั้งครรภ์หา รพ.ทำคลอดลำบากนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากหาก รพ.ไม่พร้อมจริงๆ การรับคลอดจะทำให้บุคลากรถูกกักตัว และปิดห้องฉุกเฉิน กระทบกับผู้ป่วยคนอื่นอีก ขึ้นอยู่กับการวางระบบการดูแลส่งต่อด้วย แต่ในพื้นที่ระบาดมากก็ทำได้ยาก เพราะมีหลายปัจจัย ส่วนต่างจังหวัดยังทำได้ดีเพราะเคสน้อย ดังนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้การป้องกันหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ติดเชื้อจึงสำคัญ ซึ่งหากต้องทำงานลักษณะงาน ต้องไม่หนัก ไม่แบกหาม ควรได้นอนพักกลางวัน 1 ชม. ถึงไม่หลับลึกก็ไม่เป็นไร กลางคืนนอนเพียงพอ 8-10 ชม. รับประทานอาหารเพียงพอ ไม่เครียดทั้งกายใจ.