ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บ้านสมเด็จโพลล์ จะขับเคลื่อนโพลการเมืองในห้วงเลือกตั้งอย่างไร พูดคุยผ่าน 4 ข้อซักถามกับ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
จับจังหวะชงประเด็นโพลเลือกตั้งแต่ละครั้ง
ผศ.ดร.สิงห์ เผยว่า ตั้งแต่ปี 2552 ที่ตั้งโครงสร้างดำเนินการของศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ในรูปแบบของคณะกรรมการ และได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โพลที่ทำจะเน้นการให้ความรู้ประชาชน ผ่านแบบสำรวจและการประชาสัมพันธ์ผลสำรวจ
โครงการสำรวจความคิดเห็น ทัศนคติ และพฤติกรรมของประชาชน อาศัยข้อมูลจากการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประกอบกับแหล่งความเป็นจริงด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นจริงของสังคม และความต้องการของประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร
การดำเนินการโครงการยึดการสำรวจความคิดเห็นทัศนคติ และพฤติกรรมของประชาชน ในประเด็นปัจจุบันที่เป็นที่สนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เป็นปัญหาในระดับต่าง ๆ สะท้อนความคิดเห็นประชาชนต่อเรื่องที่เป็นปัญหาในสังคม
วิธีสำรวจมีการประยุกต์ใช้เทคนิคเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะกับโครงการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสัมภาษณ์ตัวต่อตัว และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูลขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ รวมถึงการบริการวิชาการให้กับภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งยึดตามระเบียบวิธีวิจัย ข้อมูลจากการสำรวจโครงการดังกล่าวจะมีประโยชน์ในการจัดทำการวิจัยในอนาคต สำหรับผู้ที่ต้องการนำผลสำรวจไปต่อยอด
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น ผศ.ดร.สิงห์ ระบุ จะมีการวางแผนดำเนินการเก็บข้อมูล คือ 1.ก่อนการรับสมัครเลือกตั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ 2.หลังการรับสมัครเลือกตั้ง 2-3 สัปดาห์ 3.ก่อนการเลือกตั้ง 10 วัน การสำรวจแต่ละครั้งจะตรวจสอบข้อมูลด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เน้นไม่มีคำถามที่เอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อแสดงความเป็นกลางของการสำรวจ
กระบวนการเก็บข้อมูล-รักษาความน่าเชื่อถือ
แต่ละประเด็นของบ้านสมเด็จโพลล์จะดำเนินการในรูปคณะกรรมการที่มีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ มาประชุมร่วมกันเพื่อคิดประเด็นที่จะสำรวจ มีการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสังคม เน้นสำรวจความคิดเห็นถึงประเด็นปัญหาในสังคม เพื่อสะท้อนมุมมอง และสอดแทรกคำถามในการสร้างความรู้ให้กับประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจ
โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์จะเน้นเก็บข้อมูลใน กทม. และปริมณฑล เนื่องจากการเก็บข้อมูลแบบลงชุมชน เก็บข้อมูลจากผู้ที่อาศัยแบบเคาะประตู จะมีทีมเก็บข้อมูลเป็นนักศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ หลังได้ข้อมูลกลับมาจะมีการตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นมีความถูกต้องหรือไม่
ส่วนการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ จะมีการผสมผสานเพราะข้อมูลที่ได้จากการเก็บแบบออนไลน์จะได้ข้อมูลในส่วนของผู้ที่ชอบ และไม่ชอบในประเด็นนั้น ๆ เป็นส่วนใหญ่ คนที่เป็นกลางจะเป็นส่วนน้อย
ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั้งหมด 135 การสำรวจความน่าเชื่อถือในสังคมนั้นเกิดจากกระบวนการที่ดำเนินการโดยยึดหลักวิชาการ ระเบียบวิธีวิจัย และความเป็นกลางในการสำรวจ
การที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์มีจุดยืนในการเก็บข้อมูลแบบลงชุมชน เก็บข้อมูลจากผู้ที่อาศัยแบบเคาะประตู โดยทีมนักศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ และการที่ศูนย์สำรวจฯ ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัย หลายครั้งมีการสำรวจในประเด็นที่เคยทำมาแล้ว เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงเวลาต่าง ๆ หรือเพราะปัญหานั้น ๆ ยังไม่ได้ถูกแก้ไข
จุดแข็งบ้านสมเด็จโพลล์ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ผศ.ดร.สิงห์ ย้ำว่า อยู่ที่การเก็บข้อมูลก่อนประมวลผลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้มา เช่น มีการทำแบบ “ทิ้งดิ่ง” เลือกในข้อแรกทั้งหมดในชุดคำถามของการสำรวจ ข้อมูลลักษณะนี้จะถูกดึงออกเพราะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้งานได้
ข้อครหาโพล “รับใช้การเมือง”
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัย การสำรวจแต่ละครั้งจะมีการตรวจสอบข้อมูล เน้นไม่มีคำถามเอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อแสดงความเป็นกลางของการดำเนินการ ดังนั้น ภาพรับใช้การเมืองของศูนย์สำรวจความคิดเห็นของบ้านสมเด็จโพลล์ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้.