ในฐานะหนึ่งโพลที่คอการเมืองต้องรู้จัก จะมีมุมมอง ทิศทางการทำโพลเลือกตั้งอย่างไร มาเปิดใจผ่าน 4 ข้อซักถาม กับ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา และนักวิชาการอิสระ อดีต ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล

จับจังหวะการชงประเด็นโพลเลือกตั้งแต่ละครั้ง

ผศ.ดร.นพดล เผยว่า ซูเปอร์โพลคิดประเด็นทำโพลทุกเรื่องมีที่มาที่ไปในหลายรูปแบบ แต่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน 3 ฐาน คือ ฐานความคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ สถาบันเสาหลักของชาติ, ฐานความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองความปลอดภัยของประชาชน และฐานความอยู่ดีกินดี ลดความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อใช้โพลเป็นกลไกสำคัญในการ “เปิดใจประชาชน” ส่งเสียงของใจประชาชนไปยังผู้มีอำนาจ ผู้ถือและใช้อำนาจรัฐ ที่ปรัชญาการเมืองของซูเปอร์โพลถือว่าอำนาจรัฐมาจากประชาชน ผ่านกระบวนการเลือกตั้งและอื่น ๆ ประชาชนคือผู้มอบอำนาจของตัวเองให้รัฐด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะดูแลประชาชนจากคณะผู้ถือและใช้อำนาจรัฐนั้น ๆ เหล่านี้คือ พื้นฐานของการคิดประเด็นเพื่อทำโพลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนจังหวะการคิดประเด็นเพื่อทำโพลเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผศ.ดร.นพดล เผยว่า มีอยู่ 2 จังหวะ คือ จังหวะของกระแสข้อมูลข่าวสาร และจังหวะของความต้องการตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันทางการเมือง และความต้องการที่เป็นเสียงประชาชน โดยทั่วไปซูเปอร์โพลสามารถทำได้ทุกสัปดาห์และบางสัปดาห์สามารถทำได้มากกว่า 1 ครั้ง

กระบวนการเก็บข้อมูลรักษาความน่าเชื่อถือ

ซูเปอร์โพลมีกระบวนการเก็บข้อมูล 2 กระบวนการ คือ กระบวนการ “สัมภาษณ์” และกระบวนการให้ผู้ถูกศึกษา “ตอบเอง” โดยเฉพาะในเรื่องละเอียดอ่อนที่ “เล็งเห็น” ว่า ผู้สัมภาษณ์อาจกลายเป็นปัจจัยทำให้ข้อมูล “คลาดเคลื่อน” ในผลโพลการเลือกตั้งได้ จึงใช้กระบวนการที่ให้ผู้ถูกสุ่มตัวอย่างตอบเอง

ที่สำคัญคือ ซูเปอร์โพล มีระบบฐานข้อมูลที่มาก กว่าการใช้โทรศัพท์เพียงอย่างเดียว เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 40 ไม่มีโทรศัพท์ และซูเปอร์โพลก็จะไม่ใช้ฐานข้อมูลโทรศัพท์เดิม ๆ โทรฯ แบบซ้ำ ๆ ยกเว้นต้องการเห็นอะไรบางอย่างจากกลุ่มเดิมตามวัตถุประสงค์การวิจัยเชิงสำรวจ

“ถ้าหากใช้แต่ระบบฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์อย่างเดียวจะเสี่ยงสูงต่อความคลาดเคลื่อนที่เรียกว่า ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากระบบฐานข้อมูลที่ไม่ครอบคลุม (Non-Coverage Error)”

สำหรับประเด็นความน่าเชื่อถือ ผศ.ดร.นพดล ชี้ว่าอยู่ที่ความถูกต้องแม่นยำของ “ผลโพล” เลือกตั้ง ซึ่งจะพบว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คณะทำงานของซูเปอร์โพลมีการนำ “ผลโพล” กับ “คะแนนจริง” มากระทบคะแนนกัน ยกตัวอย่าง การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ซูเปอร์โพลประกาศก่อนคะแนนจริงออกว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้ 1.3 ล้านคะแนนในผลโพล ส่วนคะแนนจริงคือได้กว่า 1.2 ล้านคะแนน

นอกจากนี้ ซูเปอร์โพลเคยสำรวจก่อนวันลงประชามติว่า คนจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 61.5 และของจริงคือร้อยละ 61.4 ดังนั้น การรักษาความน่าเชื่อถือในสังคม จึงต้องเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิทยาการ (Methodology) ของการทำโพลที่เคร่งครัดและความเป็นมืออาชีพของคณะทำงานที่ผ่านประสบการณ์วิจัยยาวนาน และเป็นผู้มีการศึกษานานาชาติที่เป็นสากลมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตามที่ซูเปอร์โพลนำมาใช้ในทุกโครงการให้เห็นว่ามาตรฐานของโพลไทยเป็นของคนไทยที่ไปเรียนรู้จากต่างชาติ เพื่อเป็นโพลของคนไทยมาตรฐานเทียบเท่า หรือสูงกว่า แม่นยำมากกว่าต้นตำราอีกด้วย

ที่ผ่านมาก็ทำได้จริง ไม่ได้ยกตนเหนือผู้อื่น แต่เอาของจริงมากางให้พิจารณา ไม่ได้บอกให้เชื่อ เพราะประกาศมาตลอดว่า อย่าเชื่อ และอย่ายึดมั่นถือมั่น

จุดแข็งซูเปอร์โพลในการเลือกตั้งครั้งนี้

ผศ.ดร.นพดล มองคณะทำงานของซูเปอร์โพลไม่เคยทำงานแข่งขันกับโพลสำนักอื่น แต่แข่งขันกับตัวเอง และเชื่อว่าโพลสำนักอื่น ๆ คงตอบคล้าย ๆ กันทำนองนี้ ซูเปอร์โพล มักจะเจอโจทย์หินที่ท้าทายเสมอ ไม่แค่เฉพาะโพลเลือกตั้ง แต่ในทุกโพลที่ซูเปอร์โพลต้องการไป “เปิดใจประชาชน” ล้วนแต่เจองานหิน และความท้าทายเสมอ แต่ก็ทำผ่านพ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ที่ยากกว่าโพลคือ ทัศนคติของผู้มีอำนาจรัฐ และผู้มีอำนาจการเมืองบางคน ที่อาจจะเชื่อมั่นใน “บ้านใหญ่” และเทคนิคชนะเลือกตั้งในพื้นที่ มากกว่าข้อมูลที่ได้จากโพลเปิดใจประชาชนที่ทำมาก็อาจจะถูกมองข้ามไปได้

“หากผู้มีอำนาจการเมืองเหล่านั้นเชื่อมั่นกระสุนมากกว่าใจ หรืออารมณ์ของประชาชน ที่คิดว่าจะซื้อได้ก็ให้ระวังจะผิดหวัง เพราะมองข้ามข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์จากโพล ซูเปอร์โพลมีจุดแข็งจึงทำให้ผ่านและอยู่มาในเวทีทำโพลร่วม 30 ปีแล้ว จุดแข็งนั้นคือ ความถูกต้องแม่นยำและความเคร่งครัดซื่อตรงต่อระเบียบวิธีวิทยาการ”

ข้อครหาโพลรับใช้การเมือง

ที่อื่น “ไม่รู้” แต่ที่รู้คือซูเปอร์โพล ทำโพลเพื่อให้การเมืองมารับใช้เสียงประชาชนจากโพลของซูเปอร์โพล สรุปมุมมองของซูเปอร์โพลคือ “การเมืองรับใช้โพล ไม่ใช่โพลรับใช้การเมือง”

พรุ่งนี้ตามต่อกับสำนักโพลสุดท้าย.