ทั้งนี้ จากกระแสมวยก็ต่อยอดสู่กระแส “หวงแหน-ปกป้อง” เมื่อมีการพาดพิงศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่คนไทยจะกลับมาให้ความสนใจประเด็นนี้กัน อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง…หากคนไทยจะ “หันกลับมาสนับสนุนส่งเสริมงานอนุรักษ์มรดกของชาติ” ให้มากขึ้นด้วย…ก็ “จะยิ่งดี”…

ก็จะ “ดีต่อการสืบสานศิลปะมรดกไทย”

อีกทั้ง “คนทำงาน-นักวิชาการ” ด้านนี้…

จะ “มีกำลังใจ-มีพลังทำงาน” มากขึ้น…

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.มงคล แก้วบำรุง  อาจารย์ประจำคณะวิศวรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา นักวิชาการไทยที่กำลังค้นคว้าและทำงานวิจัยเกี่ยวกับการ นำ “หลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ” มาประยุกต์ “ใช้ในการสืบสานจิตรกรรมโบราณ” ภายในพระอุโบสถของวัดสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นการนำองค์ความรู้ 2 ศาสตร์หลัก คือ “วิทยาศาสตร์” และ “โบราณคดี” มา “บูรณาการร่วมกัน” …ซึ่งนี่ก็น่าสนับสนุน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ “อนุรักษ์มรดกของแผ่นดินไทย”…

คงสภาพ-รักษาเอาไว้ให้ได้นานที่สุด…

นี่เป็น “งานอนุรักษ์เชิงก้าวหน้า” น่าสนใจ

เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ดังกล่าวนี้ ดร.มงคล ได้ให้ข้อมูลกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ประเทศไทยมีแหล่งโบราณสถานและมี “ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ” กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งผลงานศิลปะเหล่านี้ล้วน ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คนไทยควรจะรักษาเอาไว้เพื่อเป็นสมบัติชาติสืบไป อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยกาลเวลา รวมไปถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง กรณีนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่อยู่ภายในโบราณสถาน ภายในวัดหลาย ๆ แห่ง เกิดความเสียหายและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนน่ากังวลว่าศิลปะทรงคุณค่าเหล่านี้จะเสื่อมสลายก่อนเวลาอันควร

“จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันเร่งด่วน!!”

ทางนักวิชาการท่านนี้ให้ข้อมูลอีกว่า… ปัจจุบันนอกจาก ความชื้น ความร้อน ความเร็วลม ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณเกิดการเสื่อมสภาพแล้ว กับ “วิกฤติฝุ่น PM2.5” ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแค่เพียงเรื่องมลพิษทางอากาศที่มีผลเสียต่อสุขภาพของคน หากแต่ฝุ่นพิษเหล่านี้ก็กำลังเป็น “อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพจิตรกรรมโบราณที่ทรงคุณค่าในโบราณสถานต่าง ๆ เกิดการเสื่อมสภาพรวดเร็วยิ่งขึ้น” ที่จำเป็นต้องมีแนวทางเพื่อป้องกันเรื่องนี้ โดยในฐานะที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ “หลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ” จึงตัดสินใจนำองค์ความรู้ด้านนี้มาใช้…

“ประยุกต์ใช้กับงานอนุรักษ์ภาพโบราณ”

ดร.มงคล นักวิชาการที่ทำงานเรื่องนี้ ให้ข้อมูลกับทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… หลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณนั้น เป็นศาสตร์ที่ นำเอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาผนวกรวมไว้ด้วยกัน โดยองค์ความรู้ดังกล่าวถูกนำมาใช้คำนวณการเคลื่อนที่ของกระแสลมที่มีผลต่อคุณสมบัติทางอากาศพลศาสตร์ เพื่อที่จะได้ข้อมูลนำมาใช้วางแผน บำรุงรักษาจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญ ภายใต้สภาวะต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ยืดอายุให้ได้นานที่สุด ภายใต้หลักการสำคัญคือต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่โบราณสถานตั้งอยู่

ทั้งนี้ ทาง ดร.มงคล อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า… จากการศึกษาพบว่า ความชื้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเสื่อมเร็วที่สุด จึงได้นำการคำนวณของไหลด้วยหลักพลศาสตร์มาใช้ในการ หาวิธีเบี่ยงเบนทิศทางการไหลของอากาศ เพื่อลดความชื้นในอาคาร ซึ่งการคำนวณทำให้รู้ว่าแต่ละช่วงฤดู แต่ละช่วงเวลา หรือแต่ละวัน ตรงไหนภายในโบราณสถานมีความชื้นมากที่สุด และผนังในแต่ละด้านยังได้รับ แสงอาทิตย์ ตกกระทบที่แตกต่างกัน ซึ่งแสงอาทิตย์ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อภาพโบราณเหล่านี้ เนื่องจาก ความร้อน จะทำให้ความชื้นที่อยู่ในฝาผนังเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา…

“ดังนั้น ถ้าเราทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราก็จะสามารถบริหารจัดการความชื้นได้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะยืดอายุของจิตรกรรมฝาผนังให้อยู่นานขึ้น ไม่เสื่อมสลายเร็วเกินไป” …ทาง ดร.มงคล ย้ำหลักการสำคัญของเรื่องนี้

พร้อมกันนี้ยังบอกถึงโครงการที่ริเริ่มว่า… โครงการนี้ไม่ได้มีหน้าที่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องการ ยืดอายุให้ภาพโบราณเหล่านี้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ต้องยืดอายุนั้น เพราะ… 1.เพื่อช่วยให้ภาพโบราณไม่เสื่อมสภาพลงไปมากจนไม่สามารถลอกลายเก็บไว้ได้ 2.เพื่อรอให้มีเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่ดีกว่านี้ในอนาคต ในการรักษาสภาพของภาพโบราณ 3.เพื่อให้ตอบโจทย์ของยูเนสโกได้ว่าไทยมีวิธีการบูรณะอย่างไรในการดูแลโบราณสถานเหล่านี้ ซึ่งการนำหลักวิชาการมาใช้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย และทำให้ยูเนสโกเกิดความมั่นใจในวิธีการที่นำมาใช้อนุรักษ์ …ทาง ดร.มงคล ชี้ไว้

นี่เป็น…“อีกแนวทางอนุรักษ์สมบัติชาติ”

เป็น “วิธีใหม่” ที่ “น่าสนใจ-น่าส่งเสริม”

“มีการทำในภาพรวมทั่วไทย..น่าจะดี”.