นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีภารกิจในการสำรวจ ประเมินศักยภาพ อนุรักษ์ และพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งมีข้อมูลจากการประเมินศักยภาพน้ำบาดาลของประเทศไทยพบว่า ปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดินและสามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีกถึง 30,645 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีดังนั้น จากการที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี ประกอบกับสภาพพื้นที่บริเวณกลางแอ่งรองรับด้วยชั้นเกลือหินใต้ดิน ส่งผลให้ชั้นน้ำบาดาลมีคุณภาพน้ำกร่อย-เค็มในบางพื้นที่ อาทิ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เป็นต้น นอกจากนี้น้ำบาดาล ยังกักเก็บในรอยแตกหรือรอยต่อของชั้นหินแข็งระดับลึก ภายใต้โครงสร้างทางธรณีที่ซับซ้อน ส่งผลให้การเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีทางการเกษตรหรือแบคทีเรียได้ง่าย และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขาดโอกาสการใช้น้ำที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ขาดความมั่นคงด้านน้ำ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วยความห่วงใยปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใต้การกำกับดูแลของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ให้กับประชาชนตามแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้ประชาชนไม่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร

ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงรับข้อสั่งการและเร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ ตามยุทธศาสตร์กรมทรัพยากรน้ำบาดาลการสำรวจและผลิตน้ำต้นทุนเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำด้านอุปโภคบริโภค เกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการ ได้ดำเนินการ “โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แอ่งนครราชสีมา-อุบลราชธานี แอ่งอุดรธานี-สกลนคร และแอ่งเลย)” เพื่อศึกษาสภาพธรณีวิทยา ธรณีโครงสร้าง อุทกธรณีวิทยาทั้งปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล และคุณสมบัติทางชลศาสตร์น้ำบาดาลใหม่ของชั้นน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจาะสำรวจน้ำบาดาล ณ บ้านหินขาว หมู่ 15 ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นซึ่งเจาะได้แล้วกว่า 702 เมตร พบชั้นน้ำบาดาลใหม่ๆ หลายชั้น ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 180 เมตรลงไป โดยมีเป้าหมายเจาะสำรวจให้ได้ความลึก 1,000 เมตร เพื่อประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลในระดับลึก ในพื้นที่ที่เดิมมีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ พื้นที่น้ำเค็ม และพื้นที่หาน้ำยากของประเทศเพื่อพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เฉพาะ นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึกของประเทศไทย และรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

เบื้องต้นคาดว่าสามารถพัฒนาน้ำบาดาลได้ปริมาณมากกว่า 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง น้ำบาดาลมีคุณภาพดีมีปริมาณสารละลายทั้งหมด (TDS) น้อยกว่า 500 มิลลิกรัมต่อลิตรและหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ให้กับประชาชนตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ไม่น้อยกว่า5,000-7,000 คนพร้อมทั้งเตรียมแผนขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุดรธานีหนองคาย มุกดาหาร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ เป็นต้น