หลังจากนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของสหรัฐเดินหน้าเก็บกู้ชิ้นส่วน โดยอ้างการค้นพบ “ชิ้นส่วนสำคัญ” ซึ่งรวมถึง ส่วนที่เรียกว่าเซ็นเซอร์ แผงวงจรไฟฟ้า และ “ชิ้นส่วนสำคัญขนาดใหญ่” อีกทั้งหลังจากเหตุการณ์ที่รัฐเซาท์แคโรไลนา ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลวอชิงตันยืนยันมีการค้นพบและทำลาย “วัตถุลอยในอากาศลักษณะน่าสงสัย” จำนวน “อีกอย่างน้อย 3 ชิ้น” แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเก็บกู้อย่างเป็นทางการ และมีการยืนยันในเบื้องต้นว่า “ไม่ใช่ของจีน”

ทหารเรืออเมริกันเก็บกู้ “ชิ้นส่วนต้องสงสัย” เป็น “บอลลูนสอดแนมของจีน” ซึ่งเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐยิงตก นอกชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนา

สำหรับปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการของจีนนั้น รัฐบาลปักกิ่งยืนยันว่า วัตถุที่สหรัฐกล่าวว่าเป็นบอลลูนสายลับนั้น “แท้จริงคือเรือเหาะเพื่อการเก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา” ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจีน ซึ่งลอยเข้ามา “ด้วยเหตุสุดวิสัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลปักกิ่งเตือน การที่กระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำบริษัท 6 แห่งของจีน ว่า ให้ความสนับสนุนโครงการพัฒนา “เรือเหาะและบอลลูนเพื่อการสอดแนม” ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ( พีแอลเอ ) ว่า เป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวที่สะท้อน “ความตื่นตระหนกและเจตนายกระดับความตึงเครียดให้กับสถานการณ์” ดังนั้น รัฐบาลปักกิ่ง “จึงมีความชอบธรรมที่จะตอบโต้”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ พบหารือกันที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565

นอกจากนั้น จีนเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า บอลลูนของสหรัฐลอยเข้ามาในเขตน่านฟ้าของจีนอย่างน้อย 10 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่เขตปกครองตนเองทิเบต เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และอีกหลายมณฑล “โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปักกิ่ง” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน “จัดการด้วยความเป็นมืออาชีพ” แต่ปฏิเสธลงลึกในรายละเอียด

ไม่ว่าวัตถุที่ลอยเข้ามาในน่านฟ้าของสหรัฐจะเป็นอะไรกันแน่ เช่นเดียวกับการเปิดเผยของจีนเกี่ยวกับบอลลูนของสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่า ต่างฝ่ายต่างไม่มีทางยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ชัดเจนที่สุดคือการที่นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เลื่อนกำหนดการเยือนจีน “ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด” ซึ่ง “ไม่ได้หมายความว่ายกเลิก”

Reuters

เดิมทีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งความหวังไว้สูงมากกับการเยือนครั้งนี้ของบลิงเคน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเดินทางมายังจีนด้วยตัวเอง ท่ามกลางความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีซึ่งตึงเครียดต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะสงครามการค้า ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน มีการมองว่า การเยือนของบลิงเคนน่าจะช่วย “วางรากฐานใหม่” ให้กับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน

แม้มีข่าวเกี่ยวกับการปฏิเสธการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระหว่างรมว.กลาโหมของทั้งสองประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย” และไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐกับจีนจะหมดโอกาสเจรจาเพื่อปรับความเข้าใจกันในเรื่องนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า แน่นอนเขาเป็นผู้ออกคำสั่งให้กองทัพยิงทำลายบอลลูนของจีน “ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” ทว่าไบเดนกล่าวอย่างมีนัย ว่าเรื่องดังกล่าว “ไม่ได้เป็นภัยคุกคามมากขนาดนั้น” และ “ไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีน”

อย่างไรก็ตาม การที่โครงสร้างการเมืองและบรรยากาศการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ “ตึงเครียด” กลายเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลของทั้งสหรัฐและจีน “ต้องแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่งไว้ก่อน” การหันหน้ากลับมาคุยกันอย่างเป็นทางการ อาจเร็วไปที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ แต่ด้วยความเป็น “เสาหลัก” ของโลกใบนี้ ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ การเจรจาต้องเกิดขึ้น “เพื่อการสมประโยชน์และสานประโยชน์” ของทั้งสองฝ่าย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS