สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพนท์เซียร์” แบบติดตั้งบนรถบรรทุก ใช้สำหรับยิงสอยอากาศยาน โดรน และจรวดร่อน

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวหาทางการมอสโก ให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ต้นปีนี้ ด้วยการสานต่อการเยือนทวิภาคี และข้อตกลงซื้อขายอาวุธ

รัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียมีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ กับรัฐบาลทหารเมียนมา มายาวนาน และมอสโกเชื่อว่ากองทัพเมียนมาจะพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อสร้างเสถียรภาพในประเทศ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ “ค่อนข้างเลวร้าย”

นายดมิตรี ชูกาเยฟ ผู้อำนวยการสำนักงานบริการความร่วมมือทางเทคนิค-กลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย หรือ เอฟเอสเอ็มทีซี (Russia’s Federal Service for Military-Technical Cooperation : FSMTC) กล่าวว่า เมียนมาและรัสเซียบรรลุข้อตกลง สัญญาซื้อขายระบบแพนท์เซียร์ ในเดือน ม.ค.ต้นปีนี้ และรัสเซียเตรียมจัดส่งระบบให้เมียนมา ตามวันเวลาที่กำหนด ในเงื่อนไขของสัญญา

รายงานโดยหนังสือพิมพ์มอสโก ไทม์ส เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศและอุปกรณ์เรดาร์ จากรัสเซีย รวมมูลค่า 14.7 ล้านดอลาร์สหรัฐ (485 ล้านบาท) โดย พล.อ.เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ตกลงขาย ระบบขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ แพนท์เซียร์-เอส1 รวมทั้งโดรนสอดแนมรุ่น ออร์ลาน-10อี และอุปกรณ์เรดาร์ ในระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อเดือน ม.ค. ข้อตกลงซื้อขายมีขึ้นเพียงแค่สัปดาห์เดียว ก่อนที่กองทัพเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะก่อรัฐบาล ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี

รัสเซียยังคงให้การสนับสนุน รัฐบาลทหารเมียนมา ที่ถูกนานาชาติโดดเดี่ยวมากขึ้น ในระหว่างการเยือนเมืองย่างกุ้ง เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ต่างชาติระดับสูงคนแรก ที่เยือนเมียนมาหลังการรัฐประหาร ประกาศจะกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ระหว่าง 2 ประเทศ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จากข้อมูลปี พ.ศ. 2562 ของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) เมียนมาสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย รวมมูลค่า 807 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 26,585 ล้านบาท) ในระยะเวลา 10 ปี ทำให้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธให้เมียนมา รายใหญ่สุดอันดับ 2 รองจากจีน.

เครดิตภาพ – Anton Novoderezhkin/TASS, Military LeakS
เครดิตคลิป – Covert Cabal, Alert Defense