สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ว่ากองทัพอากาศของรัสเซียปฏิบัติการฝึกซ้อมรบในเขตน่านฟ้าเหนือทะเลดำ โดยหนึ่งในแนวทางการฝึกฝนทางยุทธวิธีในครั้งนี้ ที่จะใช้เวลานานประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ คือ “การฝึกฝนการโจมตีโดยใช้ระเบิดและขีปนาวุธ ต่อเป้าหมายที่จำลองว่าเป็นเรือรบของฝ่ายตรงข้าม”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกองทัพรัสเซีย เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ยูเครนเข้าร่วมกับการฝึกซ้อมรบทางทะเลและทางอากาศ กับสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ในบริเวณไม่ห่างออกไปมากนัก โดยเรือพิฆาตติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ “ยูเอสเอส รอสส์” ของสหรัฐ เข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ บรรยากาศในทะเลดำตึงเครียดตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว เมื่อเรือ “เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์” ของกองทัพสหราชอาณาจักร เผชิญกับ “การยิงเตือน” จากกองทัพรัสเซีย ระหว่างเดินทางจากเมืองโอเดสซา ในยูเครน ไปยังเมืองบาตูมี ในจอร์เจีย โดยสหราชอาณาจักรยืนยันว่า เรือลอยลำอยู่ในบริเวณ “ที่ถือเป็นน่านน้ำของยูเครน” และตำหนิเครื่องบินรบของกองทัพรัสเซียที่เคลื่อนเข้ามาอยู่ห่างจากเรือประมาณ 150 เมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะไม่ปลอดภัย

ขณะที่รัฐบาลมอสโกตำหนิสหราชอาณาจักร “บิดเบือนข้อมูล” ด้วยการอ้าง “การผ่านโดยสุจริต” ตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง แต่ทะเลในบริเวณนั้นซึ่งอยู่ใกล้กับคาบสมุทรไครเมีย ถือเป็น “อาณาเขตทางทะเล” ของรัสเซีย การเข้ามาของเรือรบสหราชอาณาจักร “บ่งชี้เจตนายั่วยุ” และเตือนว่า หากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต ระเบิดของรัสเซีย “อาจไม่ได้ตกใส่แค่เส้นทางเดินเรือ” แต่จะ “พุ่งตรงเข้าใส่เป้าหมาย”

ต่อมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “แฝงนัยทางการเมือง” และเชื่อว่า สหรัฐมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเผยด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐซึ่งบินออกมาจากกรีซ ซุ่มอยู่ในระยะไกล เพื่อสังเกตการณ์ว่า รัสเซียจะตอบสนองต่อเรือรบของสหราชอาณาจักรอย่างไร ด้านรัฐบาลวอชิงตันยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ.

เครดิตภาพ : REUTERS