นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเมินแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมีความเป็นไปได้กว่า 40% ซึ่งยังก้ำกึ่งว่าจะลดหรือไม่ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดได้มีกรรมการ 2 ท่านให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แต่การลดดอกเบี้ย ผลประโยชน์จะกระจุกแค่บางกลุ่ม เช่น กลุ่มกู้เงินมีความน่าเชื่อถือสูงระดับ ทริปเปิ้ลเอ และกลุ่มที่มีคุณภาพสินเชื่อที่ดีอย่างภาคการคลัง ซึ่งจะไปลดต้นทุนการคลังส่วนนี้ได้
ทั้งนี้ ปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่ว่าเงินสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ เพราะเงินสภาพคล่องมีอยู่เพียงพอ แต่ปัญหาคือจะใช้เงินส่วนนี้ให้เกิดประโยชน์และให้เข้าถึงอย่างไร เหมือนกับธปท.ได้เติมน้ำไหลในโอ่ง ปัญหาคือ น้ำมีเต็มโอ่ง แต่วิธีจะตักน้ำใช้นั้น ทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ จึงเกิดการกระจุกตัวของสภาพคล่อง ทำให้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องดำเนินการควบคู่กัน นอกจากนี้ในหลายประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะกับดักหนี้มากขึ้น รวมถึงไทยเริ่มมีความเสี่ยง เพราะรายได้ประชากรเติบโตช้าหรือติดลบ มากกว่าจีดีพี จะทำให้ตกภาวะกับดักหนี้มากขึ้น
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยได้พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจึงไม่มีรายได้ส่วนภาคบริการเข้าประเทศ และไทยยังเจอต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่างๆ มีความแตกต่างกัน ส่งผลไปยังดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และจะขาดดุลมากขึ้นในปีนี้จากเดิม 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
รวมทั้งมีเงินทุนเคลื่อนย้ายตั้งแต่ต้นปีไหลออกสุทธิ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นในส่วนของบริษัทย่อยในไทยส่งเงินปันผลกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ส่งผลต่อค่าเงินบาทที่หลังจากนี้จนถึงสิ้นปี 64 เงินบาทจะเคลื่อนไหว 32.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดจบสิ้นปีจะอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 64 จะติดลบ 0.5% ซึ่งจะเป็นการติดลบอีก 1 ปีจากปี 63 ที่ผ่านมาติดลบเช่นกัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะเหลือแค่ 200,000 คน แต่การส่งออกของไทยดีขึ้นคาดจะเติบโต 12.4% เทียบปีก่อน เพราะเศรษฐกิจหลักทั่วโลกเริ่มฟื้น การค้าโลกเพิ่มขึ้น 6-7% สนับสนุนของส่งออกไทย
“ลุ้นทางการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จากปัจจุบันควบคุม 29 จังหวัด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนด้านเศรษฐกิจสูงถึง 78% ของจีดีพีในปี 62 แทบจะปิดเศรษฐกิจมากกว่า 3 ใน 4 ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ถ้าเป็นแบบนี้การบริโภคในประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงทำให้จีดีพีไทยติดลบ 0.5% ในปีนี้”