เมื่อวันที่ 13 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องส่งเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เข้าไปช่วยสนับสนุนการให้ข้อมูลด้านต่างๆ ให้แก่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในมาตราต่างๆ ซึ่งก็ยอมรับว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังเหลืออยู่อีกหลายร้อยมาตรา เพราะขณะนี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาผ่านไปถึงแค่มาตรา 14 เท่านั้น อีกทั้งก็ใกล้ปิดประชุมสมัยสามัญแล้ว ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วว่าจะพิจารณาและจัดสรรเวลาให้ทันได้อย่างไร โดยในส่วนของ ศธ. ในฐานะหน่วยปฏิบัติเราได้พยายามสนับสนุนข้อมูลทุกด้านอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อที่สมาชิกรัฐสภาได้รับทราบข้อมูลทุกมาตราในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างถูกต้อง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นล่าสุดที่กลุ่มองค์กรครูออกแถลงการณ์คัดค้านไม่อยากให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ฉบับนี้ เพราะหากมีประกาศมีผลบังคับใช้อาจส่งผลทำลายต้นน้ำของการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษานั้น เรื่องนี้ตนได้สะท้อนไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 4 ประเด็นแล้ว คือ 1. การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ ศธ. ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 2. ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด 3.การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร และ 4.ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่า บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยาฐานะเช่นเดิม อย่างไรก็ตามในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน