นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค. มีจำนวน 52,442 คัน ลดลง 11.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากศูนย์โชว์รูมรถยนต์ แจ้งว่า มีลูกค้าได้ยกเลิกการจองรถ รวมทั้งเลื่อนการรับรถออกไปเป็นจำนวนมาก หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ช่วงกลาง ก.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% จากช่วงปกติถูกปฏิเสธเพียง 5-10% เท่านั้น
“การล็อกดาวน์ต่อเนื่องทำให้ประชาชนระวังการใช้จ่าย เพราะมองรายได้ในอนาคตไม่แน่นอนส่งผลให้โชว์รูมรถยนต์ส่วนใหญ่ถูกลูกค้ายกเลิกการจองรถ เลื่อนรับรถ โดยส่วนใหญ่จะยกเลิกการจองมากกว่าแค่เลื่อน ขณะที่ไฟแนนซ์เองก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อซึ่งช่วงเศรษฐกิจดีๆ นั้น ไฟแนนซ์จะปฏิเสธการให้สินเชื่อเพียง 5-10% แต่ช่วงนี้ยอดปฏิเสธสูงถึง 50% ของรถยนต์ที่ราคาไม่สูง ขณะที่รถยนต์ราคาแพง รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าพบว่า ยังไม่กระทบมากนัก หากรัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ก็เชื่อว่าจะทำให้ดีขึ้น โดยยอดขายรถยนต์ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.64) 425,633 คัน เพิ่มขึ้น 9.71% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็เทียบกับปีที่แล้วที่ฐานค่อนข้างต่ำ”
นอกจากนี้ค่ายรถยนต์ได้ชะลอการผลิตรถยนต์รุ่นที่นิยม เป็นผลจากการขาดแคลนชิพและชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นต้องติดตามใกล้ชิดว่า ศบค.จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้น
สำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค.มี 122,852 คัน เพิ่มขึ้น 37.52% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฐานต่ำในปีที่แล้วและต่ำสุดรอบปีนี้ หากไม่นับรวมเดือน เม.ย. 64 ที่มีวันหยุดจำนวนมาก เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่พบกับปัญหาขาดแคลนชิพเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนรถยนต์บางชิ้นในการผลิตจากผลกระทบโรงงานชิ้นส่วนทั้งในและเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น โดย 7 เดือนแรกปีนี้ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 967,453 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.11% ซึ่งหากการผลิตยังอยู่ระดับดังกล่าวผลกระทบต่างๆ ไม่รุนแรงขึ้นคาดว่าการผลิตรถยนต์ปี 64 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.55-1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 800,000-850,000 คัน ผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน
“เรายังกังวลปัญหาการขาดแคลนชิพจากทั่วโลกจึงไม่ปรับเป้าการผลิตเพื่อส่งออกสู่ระดับ 900,000 คัน โดยคาดว่า ปัญหานี้จะยังคงมีไปถึงปี 65 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากการทำงานอยู่บ้านทั่วโลก ทำให้ชิพมีความต้องการสูงขึ้นในทุกภาคส่วน”
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนชิพจะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์โดยรวมจะเห็นได้จากล่าสุดโตโยต้า ญี่ปุ่น ประกาศลดการผลิตลงทั่วโลก 40% ในเดือน ก.ย.หรือกว่า 3 แสนคัน ทำให้โตโยต้าในไทย จะได้รับผลกระทบด้วยก็กำลังเจรจากับ บ.แม่อยู่ถึงความชัดเจนซึ่งแม้จะมีนโยบายเตรียมพร้อมรับมือแต่การใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีอาจจะมีหลายค่ายรถยนต์จะมีกำลังการผลิตที่ลดลงเพราะผลกระทบดังกล่าว