เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ก.พ. ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปรายงานข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานเขต ความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผลการดำเนินงานผ่าน App ทราฟฟี่ฟองดู และรายงานปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตว่า

เขตห้วยขวางเป็นเขตที่อยู่ในเมือง เป็นเขตสีส้ม เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ปัญหาหลักๆ คือ เรื่องน้ำท่วม ซึ่งเรามีแผนดำเนินการอยู่ ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน เช่น หมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะกับ กทม. เป็นปัญหาหมู่บ้านเก่า เป็นพื้นที่เอกชนไม่ได้ยกเป็นที่สาธารณะ กทม. เข้าไปดำเนินการได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ได้ ไม่เฉพาะเรื่องน้ำท่วม ยังรวมถึงเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง เขตห้วยขวางมีชุมชนอยู่ 22 ชุมชน ซึ่งมีจำนวนหลายแห่งที่ไฟฟ้าดับ สิ่งเหล่านี้เราต้องหาทางเข้าไปช่วยเหลือ ในแผนรวมเราพยายามพัฒนาทั้งเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างและน้ำท่วม อีกเรื่อง เขตห้วยขวางเป็นเขตที่มีธุรกิจต่างชาติอยู่ค่อนข้างเยอะ

ซึ่งได้เน้นย้ำว่า ในสิ่งที่เขตดูแลเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ต้องทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมด หากมีอะไรที่ผิดกฎหมายต้องเคร่งครัด เพราะอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการผิดกฎหมายอื่นๆ ต่อเนื่องตามมา ส่วนข้อร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญ การเปิดเพลงเสียงดัง สถานบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ต่างๆ ได้มอบหมายผู้อำนวยการเขตดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน อีกเรื่องคือ เรื่อง อาหารกลางวันเด็ก เป็นเรื่องที่ กทม. ให้ความสำคัญมาก เพราะคือพื้นฐานของการพัฒนาเด็ก ได้เน้นย้ำว่า ต้องมีกระบวนการตรวจสอบทั้งในแง่ของคุณภาพอาหารและในแง่ของการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมถึงการดูแลความปลอดภัยและการป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว จากผู้ประกอบการร้านค้า หรือ ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ นายชัชชาติ กล่าวว่า อันดับแรกเราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในส่วนของความปลอดภัยมีการตรวจตลอด โดยมีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาเรื่องแท็กซี่ หรือสามล้อ จะอยู่นอกขอบเขต แต่ที่ผ่านมาก็ร่วมมือกัน ต้องลงไปตรวจอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมามีการบูรณาการ พูดคุยและทำงานร่วมกัน มาตลอดกับทาง บช.น.

ด้านนาย ไพทูรย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว นั้นที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเจอคือการเรียกราคาแพงไม่ว่าค่าแท็กซี่ ร้านอาหาร นโยบายอย่างหนึ่ง สำนักงานเขตร่วมกับตำรวจออกตรวจในจุดจอดรถแท็กซี่ หากเรียกแล้วไม่รับหรือมีราคาแพงผู้ใช้บริการสามารถแจ้งได้โดยจดข้อมูลทะเบียนรถและโทรฯ แจ้งที่สายด่วน 1555 นอกจากนี้ในส่วนของร้านอาหารจีน ทางสำนักงานเขตใต้กำชับให้ร้านอาหาร ทำเมนูที่มีภาษาจีน-ไทย-อังกฤษ และราคาแสดงไว้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปภายในร้านจะสามารถเข้าใจได้ ซึ่งการติดป้ายแสดงราคานั้นก็เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์และของสำนักอนามัย กทม. ป้องกันนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของราคา ด้วย

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดร้านอาหารหรือสถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิงในพื้นที่เขตห้วยขวางว่า หากชาวต่างชาติประสงค์จะเปิดให้บริการจะต้องดำเนินการอย่างไร นายไพฑูรย์ ระบุว่า การเปิดร้านอาหารหรือสถานบันเทิงต่างๆ ผู้ที่จะเปิดต้องมาแจ้งที่ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขภิบาล สำนักงานเขต จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบสิทธิในการขอ เช่น ถ้าเป็นชาวต่างชาติ 49% คนไทยเป็นนิติบุคคล และผ่านกระทรวงพาณิชย์ขอใบอนุญาตผู้ประกอบการ ส่วนพนักงานเสิร์ฟหรือผู้ให้บริการ เช่น กุ๊กก็ต้องมี work permit ประกอบอาชีพเป็นกุ๊ก แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือเป็นวีซ่านักท่องเที่ยว ส่วนพนักงานเสิร์ฟต่างๆ ก็ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาต ถ้าหากไม่มี ทางสำนักงานเขตก็ไม่อนุญาต ปัจจุบันมีการดำเนินการตรวจไปแล้ว 35 ราย พบว่ามี 15 รายที่มีปัญหา ซึ่งก็ได้มีการสั่งปิดไปแล้ว ส่วนร้านสะสมอาหาร ซูเปอร์มาร์เกต บนสินค้าที่นำเข้ามา จะต้องมีฉลากภาษาไทยระบุชัดเจนและต้องผ่าน อย. หากไม่มี อย. ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สำนักงานเขตก็ได้มีการสั่งปิดไปแล้วเช่นเดียวกัน

นายไพทูรย์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนความร่วมมือนั้น สำนักงานเขต ได้ร่วมกับตำรวจท้องที่ และ ตม. ในการกำกับให้ผู้ประกอบการ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า แล้วกรณีที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ว่ามีการทดลองเปิดให้บริการของ อาบ อบ นวด แห่งหนึ่งในพื้นที่ห้วยขวางนั้น ปกติแล้วสามารถทำได้หรือไม่ นายไพฑูรย์ ระบุว่า ทำไม่ได้

จากนั้นในเวลา 13.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นจุดฝืดด้านการจราจรและทางเท้าคับแคบ ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน ภายในถนนพระราม 9 ซอย 27 จากนั้นตรวจเยี่ยมชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา เพื่อพบปะพูดคุยเพื่อรับทราบปัญหาของชุมชน และชุมชนบึงพระราม 9 (บ่อ 3) เยี่ยมชมวิถีชุมชนมุสลิม พบปะผู้นำทางศาสนา

อย่างไรก็ตามก่อนลงพื้นที่ นายชัชชาติ ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน กับเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวางที่ได้รับคัดเลือกว่าเป็นผู้มีความขยัน ตั้งใจทำงาน ผลงานออกมาดี และมีจิตสาธารณะ รวม 5 คน ประกอบด้วย 1. นางสาวฐิตารีย์ ยิ่งชัชวาลชัย ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) 2. นายกิตติศักดิ์ อยู่มั่น ตำแหน่ง พนักงานสวนสาธารณะ 3. นางสาวภคพร ภู่กำพล ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) 4. นางสาวจิราภรณ์ แสนกล้า ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) และ 5. นายธีรพรรษ เกิดมี ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้พูดคุยถึงการปฏิบัติงานในหน้าที่ สอบถามสารทุกข์สุกดิบ และให้กำลังใจในการทำงาน ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับลูกจ้างหรือคนงานต่างๆ ที่เปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อม กทม. เข้ากับประชาชน และอยู่ใกล้ชิดกับปัญหาเส้นเลือดฝอยในพื้นที่มากที่สุด.