ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สร้างรอยยิ้มแก่ผู้พบเห็นด้วยรูปลักษณ์ที่น่าเอ็นดูและสีสันที่สดใส ยิ่งไปกว่านั้น พวกมันยังพูดขอทางได้ด้วย 

หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายเพื่อส่งของ (ส่วนใหญ่คืออาหาร) ตามคำสั่งของทางร้านโดยไม่ต้องมีคนคอยบังคับอยู่ใกล้ ๆ มันทำงานในลักษณะเดียวกับรถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving) ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว ถ้าลอกเปลือกนอก มันก็เหมือนรถเข็นสี่ล้อขนาดมินิดี ๆ นี่เอง

แต่ความเป็นญี่ปุ่นก็คือ “แพ็กเกจ” ต้องดี ดังนั้น มันจึงได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่น่ารักสดใส ดูเป็นมิตรและห่างไกลความเป็นทัศนะอุจาดของผู้ที่พบเห็น

หุ่นยนต์ ‘DeliRo’ ขณะทำหน้าที่ส่งอาหาร

เบื้องหลังจากการออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ในลักษณะนี้ ก็คือความพยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น โดยเฉพาะแรงงานด้านการขนส่ง เนื่องจากญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (30% ของประชากรทั้งประเทศมีอายุเกิน 65 ปี) รวมถึงแก้ปัญหาการขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลที่โดนตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งมักจะมีประชากรเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ฮิซะชิ ทะนิกุจิ ประธานบริษัท ZMP ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์ใช้งานในโตเกียวกล่าวว่า ยังคงมีปัญหาที่ต้องตามแก้ไขอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัย 

อันที่จริงแล้ว หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ได้ไร้คนบังคับอย่างแท้จริง มันยังไม่ได้เก่งกาจถึงขนาดคิดอ่านทำอะไรเองได้ ยังคงต้องมีคนป้อนโปรแกรมและควบคุมจากระยะไกล โดยพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงได้ทุกเมื่อที่เกิดความผิดพลาด

พนักงานที่ศูนย์ควบคุมจะเป็นผู้คอยตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์ส่งของจากระยะไกล

ทะนิกุจิ กล่าวว่า หุ่นยนต์เหล่านี้ถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของสังคมมนุษย์ จึงยังคงมีบางคนที่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจที่ได้เห็นพวกมันเดินทางไปมาอยู่ท่ามกลางฝูงชน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้ความสำคัญต่อรูปร่างหน้าตาของมันว่าจะต้องดู “น่ารักและไม่โอ้อวด” 

ZMP ซึ่งมีผู้ร่วมหุ้นลงทุนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Japan Post Holdings มองว่าหุ่นยนต์ส่งของ ‘DeliRo’ ของพวกเขาจะต้องมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ จึงออกแบบให้มี “ดวงตา” กลมโตดูแป๋วแหวว หนำซ้ำยังตั้งโปรแกรมให้ “ร้องไห้” แบบมีน้ำตาได้ด้วย ถ้าหากมีคนบนทางเดินเท้ายืนขวางทางพวกมัน ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ชื่นชอบหุ่นยนต์เหล่านี้มาก

DeliRo ได้รับการออกแบบให้ดูน่ารักและเป็นมิตร เพื่อลดความขัดแย้งของคนที่ยังรู้สึกต่อต้านการได้เห็นหุ่นยนต์วิ่งไปมาท่ามกลางฝูงชน

ในประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น อังกฤษและจีน แต่ก็ยังมีความกังวลในญี่ปุ่นอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของอุบัติเหตุจากการเฉี่ยวชนและการขโมยทรัพย์สิน

ขณะนี้กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้หุ่นยนต์เหล่านี้วิ่งไว้เร็วที่สุดเพียง 6 กม./ชม. ซึ่งผ่านการคำนวณแล้วว่า เป็นความเร็วทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะก่ออุบัติเหตุร้ายแรงจากการเฉี่ยวชนได้น้อยมาก แต่ก็ยังมีปัญหาว่า ถ้าหุ่นยนต์ถูกเบี่ยงเบนออกจากทางเท้าและชนเข้ากับรถยนต์บนถนน ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่

ถึงอย่างนั้น ในเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณากฎหมายการจราจรใหม่เพื่อให้รองรับการทำงานของหุ่นยนต์ส่งของเหล่านี้ให้สามารถเดินทางไปตามถนนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย

อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้น ชาวญี่ปุ่นจะไม่เพียงได้เห็นหุ่นยนต์เหล่านี้บนทางเท้าเท่านั้น แต่ยังจะได้เห็นมันลงไปวิ่งบนถนนร่วมกับรถยนต์อีกด้วย

เครดิตภาพ : Kazuhiro NOGI / AFP