คดีแรกเป็นกรณีศาลชั้นต้นยกฟ้องแพะ “จำเลย” คดียาเสพติด จากเหตุการณ์เมื่อปี 2563 ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เข้าจับกุมผู้ต้องหาพร้อมพัสดุเป็นลำโพงเครื่องเสียงซุกซ่อนยาบ้า 2 แสนเม็ด ไอซ์ 2 กิโลกรัม ในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี

ตรวจสอบต้นทาง พัสดุถูกส่งจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้ส่งอ้างลืมบัตรประชาชนขอใช้เลข 13 หลักบัตรประชาชน และใช้ชื่อแพะในคดีดังกล่าวเป็นผู้ส่ง จนถูกออกหมายจับ ก่อนเดินทางเข้ามอบตัวพร้อมแสดงหลักฐานบันทึกการสแกนนิ้วมือเข้าทำงาน และวงจรปิดยืนยันความบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่สุดท้ายศาลพิเคราะห์แล้วด้วยพยานหลักฐานเป็นไปไม่ได้ที่วันดังกล่าว จำเลย(แพะ)จะไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว หลักฐานจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่ากระทำผิด ข้อต่อสู้จำเลยฟังขึ้น พิพากษายกฟ้อง และให้ออกหมายปล่อยจากเรือนจำ

อีกคดีเป็นแพะ “ผู้ต้องหา” คดีค้ามนุษย์ จากเหตุถูกตำรวจ สภ.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด จับกุมและส่งศาลฝากขังระหว่างพิจารณาคดี  ผู้ต้องหาประกันตัวสู้คดีภายใต้เงื่อนไขติดกำไลข้อเท้า(EM) กระทั่งสุดท้ายตำรวจยื่นคำขอเพิกถอนการฝากขัง หลังตรวจสอบเลขบัตรประชาชนแล้วพบว่าจับผิดตัว โดยผู้ต้องหาตัวจริงกับผู้ต้องหาแพะเป็นบุคคลที่มีชื่อ-สกุล เหมือนกัน

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ของแพะที่เพิ่งได้รับอิสรภาพ แต่เป็นบทเรียนซ้ำซากในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่ากรณีแพะหลายคดีไม่ได้สูญเสียเฉพาะอิสรภาพที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังสูญเสียครอบครัว สูญเสียไปถึงอนาคตด้วย

แม้ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะมีกฎหมายเยียวยาแพะคดีอาญาใช้มานานกว่า 20 ปี แต่เป็นเพียงปลายทางการทดแทนความเสียหายที่ “ไม่มีค่า” เท่าอิสรภาพ เพราะสิ่งที่ควรแก้ไข ปรับปรุงมากที่สุดคือ “ต้นน้ำ” กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีต้องรัดกุมมากขึ้น ลดโอกาส “จับผิดตัว”

อย่างไรก็ตาม หากเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่น่าเสียดาย และเป็นอีก “ช่องโหว่” ต้องทำให้ครอบคลุมขึ้น คือการไม่รู้สิทธิและพลาดโอกาสรับการเยียวยาตามกฎหมาย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559  ซึ่งแพะมีสิทธิรับ “ค่าทดแทน” หากเข้าคุณสมบัติหลัก 3 ข้อ คือ

1.เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ 2.ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 3.ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด และมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือแบ่งเป็น กรณีไม่เสียชีวิต ประกอบด้วย 1.ค่าทดแทนการคุมถูกคุมขัง จ่าย 500 บาท (คำนวณจากวันที่ถูกคุมขังตามอัตราที่กฎหมายกำหนด) 2.ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท 3.ค่าฟื้นฟื้นสมรรถภาพ ไม่เกิน 50,000 บาท 4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ (ตามอัตราจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำงาน) 5.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนาย จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินดัตราที่กำหนด และ6.ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินคดี จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

กรณีเสียชีวิต ประกอบด้วย 1.ค่าทดแทน 100,000 บาท 2.ค่าจัดการศพ 20,000 บาท 3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 40,000 บาท 4.ค่าเสียหายอื่น ไม่เกิน 40,000 บาท เงื่อนไขการยื่นคำขอต้องดำเนินการภายใน 1 ปี

ที่ผ่านมามีการขยับอัตราค่าทดแทนที่สอดรับสภาพปัจจุบันมากขึ้น ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพิ่มการช่วยเหลือ “ผู้ต้องหา” หรือการเยียวยาแพะในชั้นสอบสวน ซึ่งกฎหมายเดิมยังไม่ครอบคลุมถึง

แม้เป็นขั้นตอนปลายทางความผิดพลาด แต่ก็สำคัญและคาดหวังการขยับปลายทางจะสะเทือนย้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้องทบทวน ถี่ถ้วนมากขึ้นอีก.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]