นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา “ประเทศไทย” ยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงพบพื้นที่แพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ซึ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และการเดินหน้าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ การฝ่าวิกฤตนี้ให้ผ่านพ้นไปได้นั้น นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้แสดงเจตนารมณ์และออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ “คนไทย” กลับมามีความสุขกันอีกครั้ง
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานของไทย ที่มุ่งหวังจะเติม “พลังใจ” กลับคืนสู่สังคมไทย ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”
ล่าสุด นางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบเครื่องเอกซเรย์ รุ่น FDR Nano มูลค่า 3,500,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (กลางซ้าย) ให้เกียรติรับมอบ เพื่อสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโรค โควิด-19 ของโรงพยาบาลฯ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และร่วมดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่ม ปตท.
เครื่องเอกซเรย์ดังกล่าว เป็นเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบดิจิทัลสำหรับบริการถ่ายภาพรังสีทุกส่วนของร่างกายด้วยคุณภาพสูง เหมาะสำหรับใช้ในหอผู้ป่วยทุกประเภท สามารถปฏิบัติงานในที่จำกัดหรือคับแคบได้ดี สามารถแปลงสัญญาณเอกซเรย์เป็นภาพดิจิทัล (Detector) บันทึกภาพเก็บไว้ในเครื่องและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบจัดเก็บภาพทางการแพทย์ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่ม ปตท. พร้อมสนับสนุนและเคียงข้างบุคลากรทางการแพทย์ คนไทย และประเทศชาติ ให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็ว เพราะเชื่อมั่นว่า “เราคนไทยทุกคนล้วนมีลมหายใจเดียวกัน”
อนึ่ง กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของประเทศ มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง สนับสนุนออกซิเจนเหลว อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานรัฐ โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตรา ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมเป็นงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท
กลุ่ม ปตท. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเชื่อว่าคนไทยทุกคนล้วนมีลมหายใจเดียวกัน จึงขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และคนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน