หากถามว่าเคล็ดลับใดที่ทำให้ “นกนางนวล” ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ สามารถต่อกรกับบรรดายักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีกในเวลานี้ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ หนึ่งในคำตอบคือ “นักเตะจากอเมริกาใต้”

ย้อนไปช่วงปลายทศวรรษ 1990 ไบรท์ตัน เป็นเพียงทีมระดับดิวิชั่น 4 แต่จากนั้นค่อยๆ ไต่เต้าจนเลื่อนชั้นมายังลีกสูงสุดได้สำเร็จในฤดูกาล 2016-17 แม้จบฤดูกาลด้วยการวนเวียนอยู่ท้ายตาราง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ตกชั้นมา 4 ปีติด ไม่รวมกับปีนี้ที่อาจดีพอถึงขั้นจบครึ่งบนของตารางด้วยซ้ำ

ที่จริงแล้วยุทธวิธีการเอาตัวรอดของ ไบรท์ตัน ไม่ได้ต่างจากทีมขนาดเล็กทั่วไป นั่นคือสรรหานักเตะที่ยังไม่ดังเข้ามาปลุกปั้น พอเก่งพอมีชื่อเสียงก็ขายออกไปในราคาที่แพง ผสมกับการเซ็นสัญญากับตัวเก๋าที่โดนทีมใหญ่เลิกใช้งาน วนเวียนกันไปแบบนี้ ก็พอถูๆ ไถๆ เอาตัวรอด

แต่สิ่งหนึ่งที่ไบรท์ตันต่างจากทีมอื่นคือพวกเขามีสายสัมพันธ์ชั้นยอดในอเมริกาใต้ ต่างจากทีมส่วนใหญ่ที่มักหาแค่ดาวรุ่งในประเทศ หรือนักเตะที่ไม่ได้อยู่ไกลมาก แต่ไบรท์ตัน มองขาดว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องสู้กับทีมคู่แข่ง เพียงแค่เข้าป่าให้ลึกหน่อย ก็อาจเจอกับ “ช้างเผือก” ที่ซ่อนอยู่

จุดเริ่มอาจตั้งแต่สมัยกุส โปเยต์ อดีตทีมชาติอุรุกวัย เป็นผู้จัดการทีม ระหว่างปี 2009-13 เขาอาศัยคอนเนคชั่นในแดนลาตินดึง ออกุสติน บัตติเพียดี และ คริสเตียน บาซ มาจากอาร์เจนตินา แม้ทั้งคู่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่สโมสรเล็งเห็นว่าการดึงนักเตะจากแดนลาตินเป็นหนึ่งในแผนการที่ชาญฉลาด ทั้งค่าตัวไม่แพง ค่าจ้างก็แสนถูก

จากนั้นพวกเขาเริ่มดึงนักเตะจากอเมริกาใต้มากขึ้น พอล บาร์เบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและพอล วินสแตนลีย์ อดีตหัวหน้าฝ่ายคัดเลือกคน เดินทางไปอเมริกาใต้บ่อยครั้ง พวกเขาได้ศึกษากระบวนการว่า ตลาดที่นั่นทำงานอย่างไรและจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นไบรท์ตันไม่ได้โฟกัสแค่อาร์เจนตินาและบราซิล ที่พวกเขามองว่าแพงเกินไปแล้ว แต่กระจายตาข่ายทั่วทวีป และนั่นก็ทำให้ได้ มอยเซส ไคเซโด จากเอกวาดอร์ มาในราคาไม่กี่ล้านปอนด์ หรือ ฮูลิโอ เอนซิสโก จากปารากวัย นี่ยังไม่รวมกับ อเล็กซิส แม็คอัลลิสเตอร์ ที่ไปไกลถึงคว้าแชมป์โลกกับอาร์เจนตินา

เติ้ง เสี่ยว ผิง เคยบอกว่า แมวไม่ว่าสีอะไร ขอให้จับหนูได้ เช่นเดียวกับไบรท์ตัน พวกเขาก็เชื่อเหมือนกันว่า ไม่ว่านักเตะชาติไหน ขอให้เก่งจริงก็เป็นใช้ได้.
เฮียเอง