เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่รณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เกษตรกร ณ จุดอัดฟาง พื้นที่ 20 ไร่ บ้านนายพรชัย เขียวอ่อน (ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร) ซอยนิมิตใหม่ 36 เขตคลองสามวา จากนั้นเยี่ยมชมจุดสาธิตโรงสีข้าวชุมชน โรงเก็บฟางอัดก้อน แขวงสามวาตะวันออก ซอยนิมิตใหม่ 47 ถนนนิมิตใหม่ เขตคลองสามวา ของนายยงยุทธ เทียนรุ่งเรือง โดยมี นายธนัฐจ์กร ภิรัฐพงศ์ธนากร ผู้ช่วย ผอ.เขตคลองสามวา น.ส.รุ่งนภา ตรีแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักพัฒนาสังคม น.ส.มะลิวัลย์ โนคำ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม นักวิชาการเกษตร นักพัฒนาสังคม ร่วมให้คำแนะนำและประชาสัมพันธ์

นายพรพรหม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เกษตรกร และส่งเสริมประโยชน์จากการไม่เผาชีวมวล ซึ่งเป็นไปตามภารกิจในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

ซึ่งพบว่าจุดที่พบการเผา (Hot spot) จากข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมจาก GISTDA ในปี 2565 จำนวน 36 จุด อยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก จำนวน 18 จุด เขตคลองสามวา จำนวน 7 จุด และเขตลาดกระบัง จำนวน 11 จุด จึงต้องรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการสร้างการรับรู้ การอบรม/สาธิต การประชาสัมพันธ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา โดยให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรน้อยที่สุด

สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ ประกอบด้วย การเยี่ยมชมการเกี่ยวข้าวของรถเกี่ยว การเยี่ยมชมการอัดฟางของผู้ให้บริการอัดฟาง และเยี่ยมชมการเก็บรักษาฟางอัดก้อน ของนายพรชัย เขียวอ่อน (ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร) ซึ่งได้เครื่องอัดฟางพร้อมรถแทรกเตอร์ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำรถดังกล่าวไปเก็บฟางหลังจากการทำนานำมาอัดก้อนแล้วจำหน่ายซึ่งมีต้นทุนเพียง 25 บาท/ก้อน

โดยสามารถนำไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารสัตว์ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตวัสดุกันกระแทกสำหรับขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้ผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของฟางให้เกิดรายได้และลดการเผาชีวมวลต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย ซึ่งเกษตรกรสามารถร่วมโครงการได้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักพัฒนาสังคม จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) จำนวน 5 กิจกรรม ตามข้อเสนอของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาและสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาตอซังข้าวและวัสดุทางการเกษตร ประกอบด้วย กิจกรรมนำฟางข้าวออกจากที่นา โดยประสานผู้นำเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติในการช่วยเหลือนำฟางข้าวออกจากพื้นที่ให้เกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย, กิจกรรมส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว, กิจกรรมเครื่องอัดฟางพร้อมรถแทรกเตอร์ ด้วยการประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ข้อมูลการให้เงินทุน และสินเชื่อ ให้บริการรถอัดฟางแก่เกษตรกรในพื้นที่, กิจกรรมโรงเก็บฟางข้าว โดยประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ข้อมูลการให้เงินทุน และสินเชื่อแก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกรในการสูบน้ำเข้านาสำหรับหมักตอซังด้วยจุลินทรีย์.