เช็กสถานะ 2 โครงการยักษ์ในพื้นที่ภาคใต้ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา กับ ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มูลค่า 4,841 ล้านบาท และ โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง-ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ มูลค่า 1,854 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนรวม 6,695 ล้านบาท ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นขอบโครงการตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2565

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 2 โครงการอีกครั้ง

โครงการแรกสะพานเชื่อมเกาะลันตา จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มัสยิดบ้านคลองหมาก อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบการเดินเรือข้ามฟาก อบจ.กระบี่ ผู้นำชุมชนชาวอูรักลาโว้ย ผู้นำชาวประมงบ้านหัวหิน อิหม่ามมัสยิดสามัคคี บ้านคลองหมาก และผู้อุทิศที่ดิน เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น

เสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสะพาน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง สนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งเสริมการเข้าถึงระบบการศึกษาในพื้นที่ เข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมประชาชนในพื้นที่ไม่ได้กังวลมากนักเพราะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

ตัวเลขวงเงินค่าก่อสร้างล่าสุดได้ปรับลดเหลือ 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 1,260 ล้านบาท (70%) และงบประมาณ 540 ล้านบาท (30%) ออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2566 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2569

ย้ำจุดเริ่มต้นโครงการจากทางหลวงหมายเลข 4206 กม. ที่ 26 + 620 ต.เกาะกลาง ไปบรรจบทางหลวงชนบท กบ.5035 ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา รูปแบบสะพานคานขึง และสะพานคานยื่น ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่ง 415 เมตร รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร

เกาะลันตามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่พบปัญหาการเดินทางและการขนส่งที่ล่าช้า เนื่องจากมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ใช้เวลาเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะลันตาน้อยนาน 1-2 ชม.เพราะต้องรอแพขนานยนต์ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินช่วงกลางคืนต้องเหมาแพขนานยนต์ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง หากก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จประชาชนสามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชม. ภายในเวลา 10 นาที

ส่วนโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา (สะพานมโนราห์) พบปะประชาชนที่อาคารประชุมเทศบาลตำบลจองถนน จ.พัทลุง มีตัวแทนเจ้าของที่ดิน ผู้อุทิศที่ดิน ฝั่งจังหวัดสงขลา-พัทลุง ผู้แทนประมง ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านสังคม ประชาชนต้องการให้ก่อสร้างสะพานฯ เพราะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด

ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์รอบทะเลสาบสงขลา อาทิ การกำหนดมาตรการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกัน รวมถึงการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนด ควรห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี

วงเงินค่าก่อสร้างโครงการ 4,841 ล้านบาท กระทรวงการคลังกำลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้ 3,290 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 1,410 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงานวงเงิน 141 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2566 เนื่องจากรอข้อสรุปรายละเอียดการกู้เงิน และมีแผนเปิดบริการในปี 2569

สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (ขยายเป็น 4 ช่องได้ในอนาคต) เป็นสะพานคานขึงและสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ รวมระยะทาง7 กม. บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ (โนรา) มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ใจความสำคัญของสะพานมโนราห์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่าง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จาก 80 กม. เหลือ 7 กม. และลดเวลาเดินทางจาก 2 ชม.เหลือ 10-15 นาที อดใจรอ

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…