สวนไซซ์มินิ “สวนขวดแก้ว” อีกรูปแบบการจัดสวนในภาชนะที่มีสีสัน มีชีวิตชีวา เป็นทางเลือกให้กับคนรักต้นไม้ได้ปลูกดูแลต้นไม้ แม้มีพื้นที่จำกัดก็ไม่เป็นอุปสรรค… 

เทอราเรียม (Terrarium) ชื่อนี้อาจไม่คุ้นเคยเท่ากับ สวนขวด โดย เทอราเรียม เป็นการจัดจำลองระบบนิเวศขนาดเล็กให้มาอยู่ในภาชนะที่เป็นกระจกใส เป็นการจัดสวนขนาดกะทัดรัดที่ใช้เนื้อที่น้อย แต่ได้สัมผัสได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั้งให้ความเพลิดเพลินผ่อนคลาย ซึ่งการจัดสวนในลักษณะนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลาย ทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ความสดชื่นกับที่อยู่อาศัยได้อย่างลงตัว

การจัดสวนขวดมีสองลักษณะคือ ระบบปิดและระบบเปิด โดยสวนขวดแก้ว ระบบปิด ไม่จำเป็นต้องรดนํ้าบ่อย จะปิดด้วยฝาปิดมิดชิด หรือบางครั้งจะเห็นถึงการนำพลาสติกมาคลุม ทั้งนี้ การปิดฝาก็เพื่อต้องการให้มีนํ้าสำหรับต้นไม้สามารถนำความชื้นกลับมาใช้ใหม่ ขณะที่ สวนขวดแก้ว ระบบเปิด จะไม่ปิดฝา ต้องการการรดนํ้าที่มากกว่าระบบปิด เพราะความชื้นไหลเวียนออกไป โดยทั้งสองรูปแบบจะพบเห็นอยู่เนือง ๆ

สำหรับครั้งนี้ชวนรื่นรมย์พาสัมผัส สวนไม้นํ้าในขวดแก้ว นำเรื่องน่ารู้การจัดสวนขวด การดูแล สัมผัสความน่าหลงใหลสวนขวดไม้นํ้าโดย ผศ.ดร.ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่า ถ้าพูดถึง เทอราเรียม คำว่า เทอราเรียม มาจากคำศัพท์ภาษาลาติน ซึ่งเหมือนการจำลองโลก จำลองระบบนิเวศให้มาอยู่ในภาชนะที่เรากำหนด

การจัดสวนสามารถเลือกนำพืชทั้งพืชบกและพืชนํ้ามาตกแต่ง โดยแล้วแต่การดีไซน์ แต่ที่พบจะเป็นพืชบก เนื่องจากดูแลค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะระบบปิด แต่อย่างไรแล้ว เมื่อมีการจัดสวน หลายคนอาจเข้าใจว่าไม่ต้องดูแล สามารถปล่อยให้เติบโตได้เลยนั้น คงไม่เป็นเช่นนั้นต้องดูแล ตัดแต่งอย่างเช่น ต้นที่ยืดยาวเกินไปก็ต้องตัดให้สมดุล

สำหรับ ไม้นํ้า มีอยู่หลายชนิดโดยที่คุ้นเคยกันจะมี ผักตบชวา จอกหูหนู ฯลฯ เป็นพืชลอยนํ้า อยู่บนผิวนํ้าโดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดติดกับผิวดิน หรือที่นำมาใช้ตกแต่งจัดสวนอย่างเช่น สาหร่ายหางกระรอก โดยชนิดนี้จะอยู่ในนํ้า สามารถเลือกนำมาใช้ได้หลายรูปแบบ อย่างที่นำมาสาธิตจะเห็นว่า มีทั้งไม้นํ้าที่ติดอยู่กับดินคล้ายกับการจัดไม้ในตู้ปลา แต่ไม่ได้เลี้ยงปลา และมีต้นไม้ที่นํ้าไม่ท่วมมิดแต่มีการเจริญเติบโตเป็นสองเลเยอร์ เมื่อนำมาจัดให้ความพลิ้วไหวและความเพลิดเพลิน ฯลฯ โดยสามารถดีไซน์การจัดสวนได้หลายรูปแบบ

อาจารย์ภาควิชาพืชสวน ผศ.ดร.ทัศไนย ให้ความรู้เล่าเพิ่มอีกว่า เทอราเรียม เป็นที่รู้จักมายาวนาน ในบ้านเรามีการจัดสวนลักษณะนี้มานานโดยเรียกสวนขวด เป็นการจัดสวนลงในภาชนะแบบปิด และแบบเปิด ทั้งนี้ การจัดสวนขวดสำหรับจัด ระบบนิเวศแบบนํ้า ใช้พืชนํ้า ไม้นํ้านำมาจัด ปัจจุบันเป็นที่รู้จักแต่ด้วยที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในการดูแล อย่างเช่นถ้าได้รับแสงแดดมากเกินไปภายในขวด ในภาชนะอาจเป็นตะไคร้ได้ง่าย ก็ต้องทำความสะอาด เปลี่ยนนํ้า โดยอาจมีความต่างจากไม้บกที่นำมาจัด

แต่อย่างไรแล้ว การจัดสวนขวดไม้นํ้า สำหรับคนรักต้นไม้ ชอบการปลูกต้นไม้ เป็นอีกรูปแบบการจัดสวนไซซ์มินิที่ให้ความเพลิดเพลิน ทั้งได้ชาลเลนจ์  ฝึกฝนทักษะ ได้ทดลองปลูกต้นไม้ที่ต่างไปจากเดิม ทั้งได้สังเกตการเจริญเติบโตของต้นไม้ ได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งอาจได้ค้นเจอความถนัดของตนเองเพิ่มขึ้น

“สวนขวดไม้นํ้าสามารถตอบโจทย์ให้ความสดชื่น ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นในบ้าน แม้จะมีพื้นที่จำกัด มีพื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้น้อยก็ตาม อีกทั้งปัญหาเรื่องการรดนํ้า การดูแลก็ไม่เป็นอุปสรรค ต่างจากไม้ที่ปลูกด้านนอกตัวบ้าน หรือริมระเบียง การจัดสวนขวดไม้นํ้าจัดได้ทั้งระบบปิดและระบบเปิด เพียงแต่เปลี่ยนระบบนิเวศบกเป็น ระบบนิเวศนํ้า”

ต้นไม้นํ้าที่นำมาปลูก นำมาจัดตกแต่งสวนจิ๋วในขวด ในภาชนะต่าง ๆ จากที่กล่าวมีได้หลากหลายชนิด โดยต้องดูแลตัดแต่ง ถ้ามีความหนาแน่น หรือกิ่งก้านระเกะระกะ ก็ต้องตัดแต่ง โดยกิ่งที่ตัดอาจนำมาปลูกวางใหม่ได้อีก ที่สำคัญไม่ควรให้มีธาตุอาหารเยอะ เพราะหากมีมากเกินไปจะส่งผลเสียกับพืชมากกว่าผลดี

สำหรับมือใหม่คนรักต้นไม้ที่สนใจจัดเทอราเรียมไม้นํ้า อย่างแรกควรศึกษาพืช พิจารณาตำแหน่งที่จะนำไปวาง โดยถ้าวางริมหน้าต่างที่มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาถึงก็สามารถเลือกพืชที่ต้องการแสงระดับกลางได้ แต่ถ้าเลือกพืชที่ชอบแสงมากนับแต่แรก เมื่อนำมาปลูกจัดวางในอาคารอาจยืดยาว ไม่แข็งแรง ดังนั้นต้อง เลือกต้นไม้ให้เหมาะกับแสงที่มี

จากนั้นนำพืชที่มีระบบนิเวศใกล้กันจัดอยู่ใกล้กัน อย่างเช่นตู้นี้มีต้นกก มีไม้นํ้าหลาย ๆ ชนิดเป็นพืชที่อยู่ตามที่ชื้นแฉะก็จัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน โดยอาจศึกษาจากหนังสือหรือจากที่มีการจัดไว้ก็จะช่วยให้เลือกต้นไม้ได้เหมาะต่อการนำมาจัดในระบบนํ้าขึ้น อีกทั้งมีข้อสังเกตถ้าต้นไม้ยืดยาว แสดงว่าได้รับแสงไม่เพียงพอ หรือถ้าปลูกไปแล้วใบเหลืองทิ้งใบก็อาจต้องพิจารณาธาตุอาหารเยอะไปหรือไม่ หรือมีโรคหรือนํ้าไม่สะอาดหรือไม่นำมาสังเกตได้ หรือถ้าเลี้ยงไปแล้วมีฝ้าขาวที่ผิวนํ้า ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีแบคทีเรียมากต้องเปลี่ยนนํ้า เปลี่ยนบ่อยสักหน่อยในช่วงแรก เป็นต้น

ผศ.ดร.ทัศไนย เพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนสไตล์การจัด ขึ้นอยู่กับผู้จัดมีความชื่นชอบ สนใจอย่างไร แต่จากที่สังเกตจะมีทั้งในรูปแบบบกและนํ้า โดยถ้าเป็นแบบที่มีนํ้าสูงอาจจัดอยู่ในภาชนะทรงสูง แจกัน ฯลฯ เป็นระบบเปิดที่สามารถใส่นํ้ามิดคล้ายกับการจัดตู้ปลา แต่ถ้าเป็นระบบปิดเป็นการจัดในตู้กระจกขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยม หรือจัดในภาชนะโหลขนาดใหญ่ 

สำหรับวัสดุปลูกค่อนข้างมีความคล้ายกับระบบบก โดยชั้นล่างสุดจะเป็นหินภูเขาไฟ เนื่องจากหินภูเขาไฟมีความเบา มีรูพรุนมากโดยรูพรุนของหินจะช่วยเก็บจุลินทรีย์ เก็บกักอากาศจะใช้ทั้งการจัดสวนขวดไม้นํ้าและสวนขวดทั่วไปแบบบก ในชั้นต่อมาจะใช้ ดินปลูกไม้นํ้า ซึ่งจะไม่แตกตัว ถ้าใช้ดินทั่วไปจะมีความฟุ้ง มีธาตุอาหารเยอะเกินความต้องการของพืช ในการดูแลก็จะง่ายกว่า จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการก่อร่างสร้างสวนปลูกต้นไม้ตกแต่งสวน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญของการจัดสวนขวด ไม่ว่าจะเป็นไม้นํ้าหรืออย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือหินที่นำมาตกแต่ง ต้องล้างขัดให้สะอาดก่อนจึงจะนำเข้ามาในระบบ ยิ่งถ้าเป็นระบบปิดการที่มีจุลินทรีย์น้อย โอกาสที่ระบบจะไม่พัง ไม่ล้มเหลวก็มีสูง ส่วนอายุของสวนแต่ละสวนส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพืชด้วยเช่นกัน โดยปัญหาของกลุ่มไม้นํ้าคือ ถ้าเลือกพืชที่มีการแตกกอมาก เมื่อต้นไม้เติบโตอาจทำให้สวนแน่น การตัดแต่งทำได้ค่อนข้างยาก ก็อาจจะต้องรื้อระบบ โดยนำต้นไม้ออกแล้วปลูกใหม่

แต่ถ้าเลือกพืชที่ไม่ค่อยแตกกอ อย่างต้นกระเทียมนํ้า เป็นต้นเดี่ยว ไม่สร้างต้นใหม่หรือแตกขยายจะช่วยให้ดูแลได้ง่ายขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องการในลักษณะไหน ชอบการตัดแต่งหรือไม่ใด ๆ หรือต้องการจัดครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นาน ๆ ก็แล้วแต่การดีไซน์ ทั้งนี้  ผศ.ดร.ทัศไนย ให้มุมมองการจัดสวนขวดไม้นํ้าทิ้งท้ายอีกว่า การจัดสวนลักษณะนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสร้างสวนสวย ๆ ให้เราได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นงานอดิเรกได้เป็นอย่างดี ถ้ามีความสนใจเพิ่มขึ้นยังเป็นอีกส่วนหนึ่งช่วยเกษตรกรผู้ผลิตไม้นํ้าได้มีช่องทางการจำหน่ายไม้นํ้าเพิ่มขึ้น

แม้แต่ผู้ที่เริ่มจัดการฝึกฝน การสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ อาจนำไปสู่ธุรกิจ รับจัดเทอราเรียมพร้อมกับการดูแล โดยที่ผ่านมาทางคณะเราจัดสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้บ่อยครั้งให้เห็นถึงประโยชน์การใช้ไม้ประดับหลายทาง ไม่เฉพาะแค่การปลูกเลี้ยงในกระถาง เช่นเดียวกับการนำมาปลูกเลี้ยงในเทอราเรียม ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

ทั้งยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาพันธุ์พืช โดยหากมีการนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นก็จะเกิดการดูแล เกิดเป็นความยั่งยืน อีกส่วนหนึ่งจากสวนไซซ์มินิ สวนขวดไม้นํ้าที่ให้ทั้งความสดชื่น สัมผัสธรรมชาติได้ใกล้ ๆ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ