ความสับสนของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งอาจมาจากมีกฎหมายและหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายส่วน การนำเข้า หรือขาย เข้าใจกันว่าผิดชัดเจน แต่ที่ “ถกเถียง” กันหนักคือผู้ครอบครองอย่างผู้ซื้อ ผู้สูบ ผิดกฎหมายเต็มๆ ด้วยหรือไม่

“ทีมข่าวอาชญากรรม” พาไปไขคำตอบ เพิ่มความเข้าใจ กับ นายทรงพล สุวรรณพงศ์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็น “ของต้องห้าม” ในประเทศไทย โดยถูกจัดว่า “ผิดกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ระบุว่า สิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นของต้องห้าม ไม่ให้นำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด หากผู้ใดนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย

เมื่อมีการนำเข้ามาในประเทศแล้วมีการค้าขาย บุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว เป็นความผิดตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีคำสั่ง ห้ามขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติม บารากูไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวน

ดังนั้น คนที่ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าที่ถือว่าเป็น “ของต้องห้าม” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ต้องรับผิดตามมาตรา 246 บัญญัติว่า ผู้ใดซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ

และถ้าบุคคลใดนำบุหรี่ไฟฟ้าไปสูบตามที่สาธารณะ สูบในที่เขตปลอดบุหรี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

กรณีอัยการได้รับสำนวนจากตำรวจเกี่ยวกับผู้กระทำผิดโดยการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า หากหลักฐานและสำนวนมีน้ำหนักเชื่อถือได้ก็จะดำเนินการสั่งฟ้องเป็นฐานความผิด ตามมาตรา 242, 246 พ.ร.บ.ศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริง เพื่อส่งฟ้องศาลเพราะถือเป็นสิ่งผิด ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

ผู้ที่กระทำผิดไม่สามารถกล่าวอ้างว่าไม่ทราบ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของต้องห้าม โดยมี แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1411/2564 ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยครอบครองเตาบารากู่ พร้อมอุปกรณ์ครบชุด โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2557 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประกาศดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย จำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่ทราบประกาศนั้น อันเป็นการแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติ ว่าจำเลยรับฝากเตาบารากู่ไว้ อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว ข้อ 4 จำเลยจึงมีความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]