พลังจากครอบครัว” เป็น “หัวใจสำคัญ” ในการฝ่าฟันและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ อย่างเช่น “ครอบครัวพุกะทรัพย์” ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ช่วยกันจูงมือหนุ่มน้อยวัย 17 ปีคนหนึ่งให้สามารถก้าวเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างน่าชื่นชม ถึงแม้หนุ่มน้อยคนนี้จะมี “ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้” หรือโรค “Learning Disabilities (LD)” ก็ตาม แถมยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเขาด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ได้แสดง “ศักยภาพภายในตัวเอง” ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของหนุ่มน้อยคนนี้ และเบื้องหลังความสำเร็จของครอบครัวนี้ มานำเสนอ…

เจ้าของเรื่องราวนี้คือ… “น้องอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” เป็นหนุ่มน้อยที่มีภาวะ LD หรือโรคบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งด้วยกำลังใจและได้รับพลังจากครอบครัว ที่สุดก็ทำให้เขาสามารถเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี แถมยังสร้างผลงานของตัวเองขึ้น ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวและเส้นทางของชีวิตเขาผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์…

’ปัจจุบันนี้โรคความบกพร่องในการเรียนรู้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย โดยผู้ที่เกิดภาวะนี้จะมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ แทบไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป แต่ที่จะเป็นปัญหามากสักนิดก็คือเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งพ่อแม่และครอบครัวสามารถที่จะช่วยเหลือฝึกฝนพัฒนาการได้“  เป็นการระบุจาโสภี ฉวีวรรณ คุณแม่ของน้องอเล็ก ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในวันนี้ของลูกชาย โดยคุณแม่น้องอเล็กให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้จะสามารถฝึกฝนให้เด็กที่มีภาวะนี้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็มีเด็ก LD จำนวนไม่มากนักที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะต้องอาศัยพลังและกำลังใจจากครอบครัวมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากมุ่งมั่นแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยเหลือให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีชีวิตในสังคมไม่แตกต่างจากเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ได้ ดังเช่นตัวอย่างจากลูกชายของเธอ …คุณแม่โสภีระบุไว้

ทั้งนี้ สำหรับ “น้องอเล็ก” นั้น ทางคุณแม่โสภีเล่าว่า ลูกชายของเธอรักที่จะเป็นนักเขียนมาก เธอจึงสนับสนุนให้ลูกได้ลงมือทำ จนน้องอเล็กสามารถฝึกฝนตัวเองก้าวขึ้นมาเป็น “นักเขียนออนไลน์” ได้ในที่สุด โดย ผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ที่ได้เผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่น จอยลดา (Joylada) ซึ่งหลังเผยแพร่ไป ปรากฏผลงานของน้องมีคนติดตามอ่านเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ที่สำคัญคนที่ติดตามอ่านผลงานของน้องอเล็กนั้น หลายคนไม่รู้ว่านิยายเรื่องนี้เป็นผลงานเขียนของเด็กที่ป่วยด้วยภาวะโรคบกพร่องในการเรียนรู้ หรือ LD ซึ่งพอหลายคนได้ทราบความจริงในภายหลัง ทุกคนก็รู้สึกเซอร์ไพร้ส์มาก

คุณแม่โสภี กับอเล็ก

คุณแม่ยังเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากมีผลงานเขียนเรื่องแรกแล้ว ต่อมาน้องก็พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการเป็น “ศิลปินดิจิทัล” โดยได้วาดภาพดิจิทัลลงขายบนแพลตฟอร์ม JNFT Marketplace ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท เจ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT สัญชาติไทย ที่ได้เข้ามาให้การสนับสนุนน้องอเล็ก ด้วยการนำผลงานไปจัดทำเป็นรูปแบบ แสตมป์ดิจิทัล (I-Stamp) ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการขายนั้นจะมอบให้แก่มูลนิธิออทิสติกไทยฯ …คุณแม่บอกเล่าเรื่องนี้ด้วยสีหน้าที่ภูมิใจ ก่อนจะบอกว่า… 

หากเรารู้ชัดว่าเด็กเขาเป็นอะไร เราก็จะได้หาทางช่วยเหลือได้ถูกวิธี และทำให้จากปัญหาที่เราคิดว่าหนัก ก็จะเบาขึ้น ซึ่งถึงแม้น้องเขาจะเป็นเด็ก LD แต่ใครจะเชื่อว่าอเล็กจะกลายเป็นนักเขียนในแบบที่เราเองก็ไม่คาดคิดว่า เด็กที่มีภาวะแบบนี้เขาจะสามารถสื่อสารและแสดงศักยภาพออกมาได้มากมายขนาดนี้

คุณแม่ของน้องอเล็กระบุ พร้อมกับเล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับ “สมาชิกครอบครัวพุกะทรัพย์” นั้น ประกอบด้วยตัวเธอกับสามี คุณแม่-โสภี กับ คุณพ่อ-ต่อพงศ์ และลูก ๆ 3 คน คือ อิ๊ม-ชนกันต์ อายุ 24 ปี, อเล็ก-ชนกรณ์ อายุ 17 ปี และคนสุดท้อง คือ เอิน-กรกานต์ อายุ 14 ปี โดยน้องอเล็กนั้นปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งทางคุณแม่โสภียังเล่าให้ฟังอีกว่า ครอบครัวเริ่มรู้ว่าอเล็กเป็นเด็ก LD ตอนอายุได้ราว 4-5 ขวบ ซึ่งตอนนั้นน้องกำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 โดยก่อนหน้านี้ลูกก็ดูเป็นปกติเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป แต่จากการสังเกตใกล้ชิด ทำให้เริ่มมองเห็นความแตกต่าง เช่น ลูกมักจะมีการพูดสลับคำ หรือการเล่าเรื่องมักจะสับสน หรือลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ หรือพูดคำบางคำไม่ชัด ทำให้เธอรู้สึกสงสัย จึงพาน้องไปพบคุณหมอเพื่อให้ทำการตรวจวินิจฉัย จนได้บทสรุปว่า น้องอเล็กมีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ หรือโรค LD แถมมีภาวะสมาธิสั้นร่วมด้วย

ส่วนหนึ่งของผลงานดิจิทัลอาร์ต

หลังจากที่คุณแม่และครอบครัวได้ทราบถึงความผิดปกติของน้องแล้ว คุณแม่โสภียอมรับว่า เธอรู้สึกเสียใจ แต่ก็ดีใจที่ได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการผิดปกติของลูก ทั้งนี้เพราะถือคติว่า ’ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้อย่างตรงจุดเร็วขึ้น“ ซึ่งทางคุณหมอได้แนะนำให้น้องอเล็กเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะทาง เพราะหากอเล็กยิ่งโตขึ้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารก็จะยิ่งแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น จนอาจจะเป็นอุปสรรคกับการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม  ซึ่งเมื่อได้คำแนะนำจากคุณหมอ เธอและสามีก็ได้มองหาโรงเรียนที่เหมาะกับภาวะของลูกมากที่สุด จนตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียน ป.1 ที่โรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่าที่นี่มีความเข้าใจเด็ก LD และมีบุคลากรที่มีความพร้อม

นอกจากจะหาโรงเรียนที่เหมาะกับน้องอเล็กมากที่สุดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ของน้องก็ยังวางเป้าหมายที่จะช่วยเหลือให้ลูกชายของเธอสามารถจะใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อย่างปกติที่สุด ซึ่งแนวทางช่วยเหลือนั้นทางคุณแม่โสภีบอกว่า เธอและสามีจะปล่อยให้น้องได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มีการ เปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง ที่ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่นำมาใช้ เช่น เริ่มต้นด้วยการพาอเล็กไปเรียนยิมนาสติก ซึ่งก็จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยเด็ก LD มักจะมีปัญหาการทำงานของกล้ามเนื้อมือและขา จากนั้นก็พาไปเรียนเปียโน เพราะคิดว่าดนตรีน่าจะช่วยทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น รวมถึงพาน้องไปเรียนร้องเพลง เพื่อเพิ่มพูนพัฒนาการด้านการพูด การฟัง และการออกเสียง ส่วนในด้านการคิดนั้น คุณแม่เล่าว่า ก็ได้มีการพาน้องอเล็กไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วย โดยเน้นเรียนเกี่ยวกับคณิตคิดเร็ว เพราะเชื่อว่าการที่ลูกได้เรียนการคิดเลขจะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านการคิดคำนวณให้เพิ่มพูนมากขึ้น …นี่เป็นแนวทางช่วยน้องอเล็กที่ทางคุณแม่โสภีได้เล่าไว้

พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานของอเล็ก

อย่างไรก็ดี คุณแม่โสภียังได้ย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า นอกจากส่งเสริมพัฒนาการแล้ว “ความเข้าอกเข้าใจเป็นส่วนสำคัญ” กับการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่มีภาวะนี้ ซึ่งถือเป็นโชคดีของอเล็กที่พี่น้องทุกคนล้วนยอมรับ และช่วยกันประคับประคองอเล็กมาตลอด โดยเฉพาะ “น้องเอิน” น้องสาวของอเล็กที่อายุห่างกัน 3 ปี ที่จะคอยช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้กับอเล็กในยามที่ต้องไปโรงเรียน โดยน้องเอินจะทำหน้าที่คอยเตือนและตามงานกับเพื่อน ๆ ที่เรียนห้องเดียวกับอเล็ก ซึ่งคุณแม่ก็ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอว่าให้เลี้ยงลูกทั้งสองคนคู่กัน จึงทำให้น้องเอินนั้นกลายเป็นคนที่เข้าใจอเล็กมากที่สุด

ความเป็นเด็กช่างซักช่างถามของน้องเอินเป็นตัวช่วยที่ดีมาก ๆ เพราะทำให้อเล็กต้องคุย ต้องพยายามสื่อสารให้น้องเอินเข้าใจ เท่ากับเป็นการฝึกให้เขาต้องพูด และฝึกให้เขาต้องคิดนั่นเอง คุณแม่เล่าพร้อมรอยยิ้มภูมิใจ

ก่อนที่จะเล่าให้เราฟังอีกว่านอกจากนั้น น้องเอินยังเป็นผู้จุดประกายให้อเล็กก้าวสู่โลกจินตนาการแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจากการที่น้องเอินเป็นเด็กชอบฟังนิทานจึงมักรบเร้าให้คนในบ้านช่วยเล่านิทานให้ฟัง และหน้าที่นี้ก็ตกเป็นของอเล็กด้วย ในฐานะพี่ชาย จนต่อมาจากที่นำหนังสือนิทานมาเล่าให้น้องเอินฟัง อเล็กก็เลยตัดสินใจแต่งนิทานขึ้นมาเอง ซึ่งน้องเอินพอได้ฟังนิทานที่พี่ชายแต่งขึ้นก็ชอบมาก จุดนี้เองที่ทำให้อเล็กได้มีการฝึกคิด ฝึกเขียน และรู้จักวิธีรวบรวมเรื่องราวในสมองให้กลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษรและเรื่องเล่า ซึ่งสุดท้ายก็ได้ผลักดันให้อเล็กได้ก้าวเข้าสู่ “โลกของการเป็นนักเขียนออนไลน์” นั่นเอง

กับพี่ชาย คุณแม่ คุณพ่อ น้องสาว

ส่วน “การวาดภาพดิจิทัลอาร์ต” ของน้องอเล็กนั้น เรื่องนี้ทางคุณแม่บอกว่า หลังจากน้องมั่นใจในการเขียนแล้ว ฝันต่อมาที่เขาอยากทำคือการวาดภาพ โดยเวลาที่น้องอเล็กจะลงมือวาดภาพ  อเล็กจะคิดถึงตัวละครและสถานที่ในหัวก่อน จากนั้นก็จะวาดออกมาตามจินตนาการของตัวเองที่ได้คิดไว้ นอกจากนี้ อเล็กยังหมั่นเก็บข้อมูลจากสิ่งที่ได้พบเห็น เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง เช่น เวลานั่งรถไฟฟ้าเพื่อไปเรียน รด. ก็มักจะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายภาพผู้คน แล้วนำไปสร้างสรรค์เป็นภาพตัวละครของตัวเองออกมา

ช่วงเรียน ม.1 อเล็กมีเพื่อนชื่อโมชิ ซึ่งน้องคนนี้เขาเป็นติ่งการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้อเล็กก็เลยสนใจตาม ซึ่งพอเขาได้ลองอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้เขานึกถึงตอนที่เล่านิทานให้น้องสาวฟัง เขาก็เลยมาปรึกษาคุณแม่ว่าอยากเขียนนิยายจะทำได้มั้ย? เราก็ได้แนะนำให้เข้าไปเขียนที่แพลตฟอร์มจอยลดา ซึ่งตอนเขียนครั้งแรกรู้สึกเหมือนก๊อบปี้คนอื่นมา ทำให้ยังไม่อยากเผยแพร่ แต่หลังจากนั้นด้วยความที่ก็ชอบเล่นเกม ชอบดูการ์ตูน อเล็กก็เลยเอามาผสมผสานเป็นเรื่องใหม่ จนกลายเป็นเรื่องเปเปอร์ ฮาร์ทหัวใจกระดาษ ซึ่งตอนนั้นก็มีอุปสรรคบ้างในการเขียน เช่น บางคำก็เขียนผิด หรือสะกดไม่ถูก ก็ให้น้องเอินมาช่วยดูให้ ซึ่งพอได้ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ พัฒนาการและทักษะก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนหลัง อเล็กจะชอบเขียนมาก เพราะเขารู้สึกว่าง่ายกว่าการพูด คุณแม่โสภีของน้องอเล็กเล่าถึง “เบื้องหลังเส้นทาง” นี้

ทั้งนี้ ก่อนจะจบการสนทนากับ “ทีมวิถีชีวิต” นั้น ทาง “คุณแม่โสภี” ได้ทิ้งท้ายฝากถึงคุณพ่อคุณแม่หรือครอบครัวที่มีสมาชิกเป็น “เด็ก LD” หรือ เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ เหมือนกับ “น้องอเล็ก-ชนกรณ์” ว่า สิ่งที่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็ก LD ก็คือ’ต้องไม่อายใคร“ เพราะหากไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับคุณพ่อคุณแม่เก็บลูกไว้ไม่ให้ได้รับการแก้ไข ดังนั้นถ้าสัมผัสถึงสัญญาณความผิดปกติบางอย่าง ก็ควรที่จะรีบนำลูกเข้ารับการวินิจฉัย เพราะยิ่งรู้จักอาการเร็ว จะยิ่งเป็นการช่วยลูก… ’สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยเด็กที่มีภาวะนี้ให้มีพัฒนาการใกล้เคียงกับเด็กปกติทั่วไปก็คือ ครอบครัวต้องยอมรับความจริงก่อน จากนั้นก็เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี ซึ่งถึงแม้อาการจะไม่หายขาด แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็ก LD นั้น…

สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้“.

‘ฝีมือน่าทึ่ง’ จนมี ‘โชว์เดี่ยว’

หลังจากที่ได้การยอมรับใน “ฝีมือ” แล้ว ที่สุด น้องอเล็ก-ชนกรณ์ ก็ได้มีโอกาสนำผลงานที่เจ้าตัวสร้างสรรค์ขึ้นมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก โดยงานแสดงผลงานครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “โลกของอเล็ก” ซึ่งน้องอเล็กได้เผยถึงความรู้สึกกับการที่ได้มี “งานโชว์เดี่ยว” ผลงานครั้งแรกนี้ว่า เขารู้สึกดีใจมาก  แต่ก็อาย ๆ ด้วย เวลาที่คนมาชื่นชอบชื่นชมผลงานให้ฟัง ซึ่งอเล็กบอกว่า ไม่เคยคิดว่าจะมีงานแสดงเดี่ยวผลงานแบบนี้ เพราะที่วาดรูปนั้นก็เพราะเขาแค่อยากวาดรูปเท่านั้น โดยเป็นการวาดในคอมพิวเตอร์ หรือบนไอแพด ทั้งนี้ เขาบอกว่า ’ตอนไปโรงเรียน คุณครูกับเพื่อนก็ชมครับว่าอเล็กเก่งมาก ถ้าหากมีคนถามผมว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมก็จะบอกว่า โตขึ้นผมอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนครับ เพราะผมมีเรื่องสนุก ๆ ในหัวเยอะแยะเลย จนน้องเอินน้องสาวของผมก็ชอบ และชมว่าผมแต่งเรื่องเก่ง ตอนเด็ก ๆ ผมจะมีหน้าที่ต้องเล่านิทานให้น้องเอินฟัง น้องเอินจะชอบมาก หัวเราะไม่ยอมนอนเลย ตอนนี้ผมก็มีโครงการที่จะเขียนลงใน webtoon อยู่ครับ แต่ยังไม่เสร็จ น่าจะต้องรอช่วงปิดเทอมถึงจะวาดเสร็จ หากใครที่สนใจก็ลองไปติดตามผลงานของผมได้ในช่องทางนี้ครับ“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน