การแข่งขัน “โตเกียว พาราลิมปิก 2020” หรือ โอลิมปิกคนพิการ เริ่มต้นขึ้นแล้ว ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเย็นวันอังคารที่ 24 ส.ค. 64 และจะแข่งเรื่อยไปจนถึง 5 ก.ย. 64

อุปสรรค เงื่อนไข ความยากลำบาก ไม่ต่างจาก “โตเกียวเกมส์ 2020”

นี่คือ พาราลิมปิก ที่ยากเย็นแสนเข็น มีอุปสรรค และปัญหามากมาย ไม่ต่างกัน หรืออาจจะมากกว่าโอลิมปิกของคนปกติด้วยซ้ำ

นักกีฬาคนพิการทุกท่านที่เดินทางมาแข่งขัน จึงสมควรด้วยประการทั้งปวง ที่จะได้รับการก้มหัวคาราวะจากคนทั้งโลก

เพราะพวกเขาคือนักสู้ที่ไม่เคยสูญเสียความเชื่อมั่น และศรัทธาอย่างแท้จริง

อีกประเด็นที่น่าสนใจ

พาราลิมปิกครั้งนี้ จะมีนักกีฬาคนพิการจากทีมผู้ลี้ภัย หรือ Refugee Paralympic Team เข้าร่วมแข่งขันด้วย

แม้จำนวนจะน้อย และไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เพียงแค่การต่อสู้กับความพิการของตัวเอง ความพิการของประเทศบ้านเกิด ความพิการของสังคม และความพิการของโลก จนสามารถพาตัวเองมาอยู่ในจุดนี้ได้

พวกเขาเหล่านี้ ก็สมควรถูกยกย่องหมดหัวใจแล้ว

นักกีฬาชื่อดังคนหนึ่งที่เข้าใจหัวหอกของผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดีก็คือ อัลฟอนโซ เดวีส์ แบ๊กซ้าย “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิก ยอดทีมของเยอรมนี

เดวีส์ เกิดที่บูดูบูรัม แคมป์ผู้ลี้ภัยในกานา คุณพ่อ และคุณแม่ของเขา แท้จริง เป็นชาวไลบีเรีย อาศัยอยู่ในมอนโรเวีย แต่ในช่วงสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ในไลบีเรีย ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นคนไร้ที่อยู่ และต้องหนีหัวซุกหัวซุนเอาชีวิตรอดไปยังกานา

เขาใช้เวลา 5 ปีแรกของชีวิตที่แคมป์ผู้ลี้ภัย ก่อนที่ครอบครัวจะอพยพ ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ที่แคนาดา

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง เดวีส์ ในวัยเพียง 20 ปี ได้รับตำแหน่งทูตประจำ UNHCR หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

ถือเป็นนักฟุตบอลคนแรก และชาวแคนาดาคนแรก

เขาจึงเข้าใจหัวอกผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดี และเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักกีฬาคนพิการของทีมผู้ลี้ภัยในพาราลิมปิกครั้งนี้ด้วยตัวเองว่า

“ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจการเดินทางที่พวกเขาได้ผ่านมา แต่ผมเข้าใจดี และมันคือส่วนสำคัญที่ทำให้ผมเป็นผม”

“ผมได้อ่านเรื่องราวของพวกคุณ และเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทางที่คุณได้ผ่านมา พวกคุณคือทีมกีฬาที่กล้าหาญที่สุดในโลกตอนนี้”

“คุณคือตัวอย่างของทุกวันนี้จากพลังที่คุณสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่คุณกำลังทำที่โตเกียวจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้”

“จะมีเด็กหนุ่มสาวมากมายที่หันมาสนใจกีฬาเพราะพวกคุณ จะมีผู้ลี้ภัยที่ได้เห็นความสำเร็จของพวกคุณ แล้วมีความเชื่อว่าพวกเขาก็ทำได้”

พาราลิมปิก 2020 จะมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 4,400 คน จาก 168 ประเทศทั่วโลก ใน 22 ชนิดกีฬา

6 คนในจำนวนนี้ คือนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัย ซึ่งประกอบด้วย

พาร์ฟาอิต ฮาคิซิมานา นักเทควันโดที่เกิดในบุรุนดี

อานาส อัล คาลิฟา นักกีฬาเรือแคนู กับ อิบราฮิม อัล ฮุสซีน นักว่ายน้ำ ที่เกิดในซีเรีย

อาเลีย อิสซา นักกรีฑาประเภทลาน ที่เกิดในกรีซ จากพ่อแม่ชาวซีเรีย

ชาห์ราด นาซาปัวร์ นักขว้างจักร ที่เกิดในอิหร่าน

และ อับบาส คาริมี นักว่ายน้ำ ที่เกิดใน…อัฟกานิสถาน

ความจริงแล้ว อัฟกานิสถาน ยังน่าจะมีนักกีฬามาเข้าร่วมพาราลิมปิกครั้งนี้อีก 2 คน คือ ซาเคีย คูดาดาดี นักเทควันโด และ ฮุสเซน ราซูลี นักกรีฑาประเภทลู่

เสียดายที่ทั้งคู่ต้องทิ้งความฝันเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ

โอลิมปิก 2020 ที่ผ่านไป มีนักกีฬาจากทีมผู้ลี้ภัยเข้าร่วมแข่งขันเช่นกัน โดยมีทั้งหมด 29 คน จาก 11 ประเทศ ลงแข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา

สำหรับ ทัพพาราลิมปิกไทย มีนักกีฬาได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ 74 คน ถือว่ามากที่สุดกว่าทุกครั้ง

พวกเขาจะลงแข่งขันใน 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ เทควันโด, ยิงธนู, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา (ลู่-ลาน, วีลแชร์เรซซิ่ง), จักรยาน, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, บอคเซีย, ฟุตบอลตาบอด และยูโด

เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 4-6 เหรียญทอง

ไม่ว่าจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ หรือผลงานออกมาจะเป็นยังไง เราขอให้พวกคุณรู้เอาไว้ว่า สำหรับพวกเราแล้ว

พวกคุณกล้าหาญที่สุด และเป็นฮีโร่ของเราทุกคน.