…นี่เป็นหลักใหญ่ใจความที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูกันวันนี้… ทั้งนี้ เรื่องนี้ถูกสะท้อนมา ณ ที่นี้โดยอ้างอิงการเผยของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล…

โฟกัสที่ “ส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า”

วิจัยนวัตกรรมเพื่อ “รักษามะเร็งลำไส้”    

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่อ้างอิงการเผยโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ โดยสังเขปมีว่า… ทีมนักวิจัยไทย 5 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.จุฬารัตน์ ศักดารณรงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.สุธิดา บุญสิทธิ์ ดร.สาคร ราชหาด อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ อมรรัตน์ แสงจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.กนกวรรณ ศันสนะพงษ์ปรีชา หน่วยปฏิบัติการเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้วิจัยคิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า”

“นวัตกรรมช่วยสู้มะเร็ง” ดังกล่าวนี้…ทาง รศ.ดร.จุฬารัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย ก็ได้มีการแจกแจงรายละเอียดโดยสังเขปไว้ด้วย ซึ่งโดยสรุปนั้นมีดังต่อไปนี้คือ… การ “รักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า” โดย “ใช้อนุภาคนาโนเป็นวัสดุในการนำส่งยาต้านมะเร็ง (Drug Delivery) สู่เซลล์เป้าหมาย” เพื่อเข้าไปขัดขวางยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงจำกัดบริเวณให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่อย่างแม่นยำ นี่กำลังเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษามะเร็งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งจะช่วย…

ลดผลกระทบต่อเซลล์ปกติโดยรอบ

“ลดผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง” 

สำหรับทีมวิจัยไทยทีมนี้ ที่มี “ทะลายปาล์ม” เป็นไฮไลต์ หัวหน้าโครงการวิจัยบอกไว้ว่า… ในการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนได้ทดลองพัฒนาด้วยหลายกระบวนการ ที่สุดได้เลือกใช้ กระบวนการ “ไฮโดรเทอมัล คาร์บอไนเซชัน” เนื่องจากมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ มีศักยภาพในการขยายขนาดในภาคอุตสาหกรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และง่ายต่อการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนใหม่ ๆ จากสารตั้งต้นอื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งใช้พลังงานต่ำและไม่ต้องปรับสภาพหรืออบแห้งชีวมวล

“จุดเด่นของการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนจากทะลายปาล์ม เป็นวัสดุระดับนาโนจากชีวมวลเหลือจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน นำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยนำมาเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตอนุภาคคาร์บอน ทั้งนี้โครงสร้างหลักของทะลายปาล์มคือกลุ่มของลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulose) ที่ประกอบด้วยเซลลูโลส (Cellulose) 35-50% เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) 20-35% และลิกนิน (Lignin) 10-25% ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการปรับสภาพและแยกองค์ประกอบจะเป็นอนุภาคคาร์บอนที่ดี”

…นี่คือ “จุดเด่นของทะลายปาล์ม” ซึ่ง รศ.ดร.จุฬารัตน์ ได้แจงถึงงานวิจัยไว้อีกว่า… อนุภาคคาร์บอนที่ผลิตจากกระบวนการนี้จะเป็นสารละลายสีน้ำตาล การศึกษาพบว่าเมื่อนำอนุภาคคาร์บอนมากระตุ้นด้วยแสง UV จะให้ผลได้ควอนตัมและคุณสมบัติในการเรืองแสงสูงสุด ในกระบวนการนำส่งยาต้านมะเร็งสู่เซลล์มะเร็งเป้าหมายจึงได้ทำปฏิกิริยาการเชื่อมโยงหมู่ฟังก์ชัน COOH บนอนุภาคคาร์บอนเข้ากับหมู่ OH ของโมเลกุลพอลิเอทิลีนไกลคอล ที่ขนาดโมเลกุลต่าง ๆ และ NH2 ของ ยาต้านมะเร็ง ได้แก่ Doxorubicin จากนั้น การนำส่งยาจะถูกทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเปรียบเทียบกับเซลล์ปกติ ด้วยนาโนเทคโนโลยีการเชื่อมขวางอนุภาคคาร์บอนเข้ากับโปรตีนจำเพาะ ซึ่งจะไปต่อเข้ากับตัวรับหรือรีเซปเตอร์ของเซลล์มะเร็ง เพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งยาสู่เป้าหมาย ซึ่ง ในอนาคตจะนำสู่การทดลองกับสัตว์และมนุษย์ต่อไป…

ทั้งนี้ กับการ คิดค้น “นวัตกรรมอนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” โดยนักวิจัยไทย ดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนมาข้างต้นโดยสังเขป-โดยสรุปนั้น ก็มีการระบุถึง “ประโยชน์” ต่อคนไทยและประเทศไทยไว้ว่า… จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอัตราผู้ป่วยสูง อย่างเช่น “มะเร็งลำไส้” จะช่วยลดเวลาจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม จะ เพิ่มทางเลือกในการรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบมุ่งเป้า โดยมีต้นทุนต่ำ ลดความเหลื่อมล้ำโดยช่วยให้ประชากรในประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการ ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตจากวัตถุดิบการเกษตรที่มีในประเทศไทย ลดการนำเข้า “วัสดุนำส่งยา” จากต่างประเทศที่มีราคาแพง ตลอดจนเป็นโอกาสต่อยอดในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และส่งเสริมประเทศไทยก้าวเป็นเมดิคัลฮับ รวมถึงสอดคล้องแนวทาง BCG ของไทยและกลุ่มภูมิภาค APEC ด้วย

สลับมาดูที่ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ระบุไว้…ในไทย 5 มะเร็งอันดันต้น ๆ คือ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ซึ่งตั้งแต่ 4-5 ปีมาแล้วที่มีผู้ป่วยใหม่สูงปีละราว 1.4 แสนคน เสียชีวิตปีละกว่า 8 หมื่นคน …ดังนั้น…

“นวัตกรรมส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า”

วิจัยคิดค้นพัฒนา “เป็นเรื่องดีที่น่าลุ้น”

ลุ้น…“เป็นประโยชน์ต่อคนไทยเร็ว ๆ”.