เรื่องนี้ก็ทำให้ประเทศที่มีเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงตั้งโครงการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อจะ “สกัดกั้นภัยคุกคาม” นี้ ที่อาจจะทำให้ “โลกมีอันตราย” อย่างล่าสุด…ทางองค์การอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ก็มีการแถลงเปิดตัวภารกิจ “DART (Double Asteroid Redirection Test)” ที่ได้มีการส่งยานสำรวจออกไปนอกโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญนั่นก็คือการ “พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยคู่แฝด” เพื่อที่จะทดลองการ “เบี่ยงวิถีไม่ให้พุ่งเข้าชนโลก!!”… 

นี่คือ “ภารกิจป้องกันโลก” เป็นรูปธรรม

ดูเหมือนหนังไซ-ไฟ…แต่คือ “เรื่องจริง”

ที่ “ชาวโลกต่างร่วมลุ้นให้ภารกิจสำเร็จ”

เกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากนอกโลก” ที่มาจาก “พื้นที่อวกาศ” นั้น กับภารกิจ DART นี้…เป็นหนึ่งในแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็น “หนึ่งในวิธีป้องกันภัยให้โลก” โดยอยู่ภายใต้ความร่วมมือของหลาย ๆ หน่วยงานด้านอวกาศที่มาทำงานร่วมกัน ทั้งขององค์การนาซา และหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานความร่วมมือเพื่อปกป้องดาวเคราะห์ (Planetary Defense Coordination Office) และ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ โดยภารกิจ DART ถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับนานาชาติภายใต้ชื่อ โครงการ “Asteroid Impact and Deflection Assessment” หรือ “AIDA”

Space scene background with fictional planets and blazing meteorites

ทุกฝ่าย “ตระหนักถึงภัยจากนอกโลก!!”

ก่อเกิด “ภารกิจป้องกันภัยจากอวกาศ”

ทั้งนี้ กับภารกิจ DART ที่ว่านี้ ยิ่งได้เห็นรายละเอียดของ “ภารกิจช่วยโลกไม่ให้ถูกพุ่งชน” ก็ยิ่ง “น่าตื่นเต้น” เพราะรายละเอียดของภารกิจดังกล่าวนี้ ไม่ต่างจากภาพยนตร์ไซ-ไฟ หรือนิยายแนววิทยาศาสตร์ โดยยานอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปจะไปทำหน้าที่ในการทดสอบทดลองโดยการ “พุ่งชนดาวด้วยความเร็วสูง” เพื่อที่จะ “เปลี่ยนวงโคจร-เบี่ยงเบนวิถี” ของ “ดวงจันทร์ดีมอร์ฟอส” ที่กำลังโคจรรอบ ๆ ดาวเคราะห์น้อยชื่อ “ดีดิมอส” …นี่เป็นไฮไลต์เกี่ยวกับภารกิจ “DART”

ภารกิจสำคัญ…“ภารกิจช่วยกู้โลก”…

“สกัดการถูกพุ่งชน” จากห้วงอวกาศ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นก็ไม่ใช่หนแรกที่ “โลกเสี่ยงถูกคามจากอวกาศ” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา โลกก็เคยตกอยู่ในความเสี่ยง “ลุ้นระทึก!!” จากสิ่งที่อาจจะมาจากอวกาศหลายครั้งแล้ว โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 นั้น องค์การนาซาเองก็ออกมาเผยเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามโลก” รูปแบบนี้ไว้ว่า… “โลกมีสิทธิถูกพุ่งชนโดยดาวเคราะห์น้อยถึง 5 ดวง!!” หลังจากมีการตรวจพบว่าดวงดาวเหล่านี้มี “วิถีโคจรพุ่งตรงมายังโลก” ด้วยความเร็วที่สูงมาก ๆ จนทำให้…

“โลกอยู่ในความเสี่ยง” จากดาวเหล่านี้

จากรายงานข่าว… ดาวเคราะห์น้อยที่เป็น “ภัยคุกคามโลก” 5 ดวง” ได้แก่…  ดวงที่ 1 ดาวเคราะห์น้อย 2022YB1 ที่เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 62-141 ฟุต และพุ่งมายังโลกด้วยความเร็ว 53,171 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, ดวงที่ 2 ดาวเคราะห์น้อย 2019LTS มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 288-656 ฟุต เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 53,909 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่าง 6.2 ล้านกิโลเมตร, ดวงที่ 3 ดาวเคราะห์น้อย 2022YY3 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 22-52 ฟุต และจะผ่านโลกในระยะใกล้สุดที่ระยะห่าง 1 ล้านกิโลเมตร ด้วยความเร็ว 30,692 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ดวงที่ 4 ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อย 2022YG1 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 68-157 ฟุต พุ่งตรงมายังโลกด้วยความเร็ว 58,198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเข้าใกล้โลกที่สุดที่ระยะห่าง 4.3 ล้านกิโลเมตร และดวงที่ 5 คือ ดาวเคราะห์น้อย 2010XC15 ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง คือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 459-984 ฟุต และคาดว่าจะพุ่งผ่านโลกในระยะใกล้ที่สุดด้วยระยะห่างแค่เพียง 772,312 กิโลเมตรเท่านั้น …นี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง…

ที่นักวิทยาศาสตร์ชี้…“เสี่ยงคุกคามโลก”

เพราะมี “วิถีโคจรพุ่งตรงดิ่งเข้ามาใกล้!!”

ไม่เท่านั้น!!…นอกจากดาว 5 ดวงที่ว่าแล้ว ที่ผ่านมาบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ท้องฟ้าและอวกาศ ยังออกมาให้ข้อมูลน่าตกใจว่า… มีดาวเคราะห์น้อยเกือบ 30,000 ดวงในระบบสุริยะจักรวาลที่มีวงโคจรใกล้กับโลก!! แน่นอนว่า…ยิ่งวงโคจรของดาวเหล่านี้ใกล้โลกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่ม “ความเสี่ยงต่อโลก” ที่จะถูกพุ่งชน นี่จึงทำให้ “ภารกิจที่ดูล้ำ” เหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องจริงได้ อย่างการ “ส่งยานอวกาศพุ่งชนดวงดาวเพื่อที่จะปกป้องโลก” เกิดขึ้นในที่สุด อย่างภารกิจ “DART” ที่ไม่เพียงเป็นภารกิจที่น่าตื่นเต้นระทึกใจ…

เรื่องนี้เป็น “เรื่องของหมู่มวลมนุษยชาติ”

การ “รวมพลังปกป้องมิให้โลกเสียหาย”

หาก “ทำให้ฉุกคิดถึงภัยโดยมนุษย์เอง”

“ทั้งระดับชาติ-ระดับโลก…คงจะยิ่งดี”.