คำว่า “ไทรอยด์” หรือ “โรคไทรอยด์” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยในยุคนี้ ซึ่ง นพ.ชาคริต ศรีเจริญวณิชย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลปากช่องนานา อธิบายว่า ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างของกลางลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อใช้ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานในร่างกาย ซึ่งร่างกายจะผลิตฮอร์โมนได้จากการสั่งงานจากสมอง และมี “สารไอโอดีน” สารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์

ทั้งนี้ หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งมักพบความผิดปกติ 2 อย่างหลัก ๆ คือ 1. ความผิดปกติที่ฮอร์โมน อาจจะเกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และการผลิตฮอร์โมนที่น้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากต่อมไทรอยด์เอง หรือจากสมองก็ได้โดยทั่วไปจะให้ยา หรือกลืนแร่ หรือผ่าตัดเพื่อทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์กลับมาปกติ

2. ความผิดปกติที่บริเวณโครงสร้างและการมีเนื้องอกขึ้นมาในต่อมไทรอยด์

ในอดีตนั้น ประชากรประสบปัญหาการขาดสารไอโอดีน จึงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โตที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่า “โรคคอพอก” ซึ่งในกลุ่มนี้พอได้รับยารักษาก้อนจะยุบลง แต่ในปัจจุบันการขาดสารไอโอดีนพบได้น้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาด้วยก้อนเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ที่ไม่ค่อยตอบสนองกับการได้รับยา

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์จะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ และการเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอกไปตรวจ เมื่อได้ผล แพทย์จะประเมินจากผลตรวจและแจ้งแนวทางการรักษา ซึ่งการรักษาเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จะแบ่งเป็นการติดตามอาการที่ผิดปกติ ขนาดก้อน การเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอก และการผ่าตัด

สำหรับการผ่าตัดรักษานั้น นพ.ชาคริต อธิบายว่า จะทำต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ คือ ก้อนที่มีขนาดโตจนมีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดอาหารและหลอดลม ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากหรือหายใจเหนื่อย, ก้อนที่มีลักษณะที่สงสัยว่าจะเป็นกลุ่มมะเร็ง และก้อนที่ผู้ป่วยต้องการที่จะผ่าตัดเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความสวยงาม เป็นต้น

ทั้งนี้ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปาก เป็นเทคนิคการผ่าตัดวิธีล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยจะใช้เทคโนโลยีกล้องขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูงช่วยในการผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก โดยแผลจะอยู่บริเวณด้านในของริมฝีปากล่าง ตรงกลางขนาด 1.5 เซนติเมตร และด้านข้างอีก 2 จุด ข้อดีคือไม่ก่อให้เกิดรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด ลดระยะเวลาการผ่าตัดและทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ความเข้มข้นสูง (high intensity focus ultrasound : HIFU) ส่งคลื่นความร้อนผ่านบริเวณผิวหนังเข้าไปทำให้ก้อนบริเวณเนื้องอกเกิดการยุบตัวลดขนาดของเนื้องอกลงได้ประมาณ 20-70%

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละคนต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างละเอียดอีกครั้ง และหากสนใจสามารถรับฟังเสวนา “รู้เท่าทันไทรอยด์ด้วยวิธีการรักษาสมัยใหม่” ได้ที่ห้องประชุมเพชรปากช่อง ชั้น 6 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย รพ.ปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ ฟรี ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.

อภิวรรณ เสาเวียง