ในอดีต “ลูกเตะมุม” อาจเป็นอาวุธที่หลายทีมมองข้าม หลายสโมสรอาจมุ่งมั่นการทำประตูไปกับการต่อเกม หรือรูปแบบการเล่นมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประตูเตะมุมคือความสำคัญเสมอมาของทีมที่จะเป็นแชมป์ เพราะหลายครั้งในเกมที่ตื้อๆ ตันๆ ประตูจากลูกตั้งเตะนี่เอง ที่ตัดสินเกม

สถิติจาก 16 ฤดูกาลที่ผ่านมา ระบุว่ามีแชมป์พรีเมียร์ลีกเพียง 5 ทีมเท่านั้น ที่ทำประตูจากลูกเตะมุมได้น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์จากประตูทั้งหมด ส่วนที่มากสุดเป็นของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ปี 2007-08 ที่เกือบหนึ่งในห้าของประตู (18.8 เปอร์เซ็นต์) มาจากลูกเตะมุม

ในช่วงปรีซีซั่นก่อนฤดูกาล 2018-19 เจอร์เกน คลอปป์ เริ่มคุยกับผู้ช่วยของเขา เปป ลินเดอร์ส และปีเตอร์ คราเวียตซ์ เพื่อปรับปรุงการเล่นลูกตั้งเตะให้ดีกว่าเดิม

ทีมของคลอปป์พลาดแชมป์ไปหนึ่งแต้ม แต่ 14 ประตูจากลูกเตะมุม ซึ่งสูงที่สุดในลีกฤดูกาลนั้น คิดเป็น 15.7 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้พวกเขาเข้าใกล้ซิตีได้มากขึ้น

ฤดูกาลต่อมา ลิเวอร์พูลทำได้ดีกว่าเดิม พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี และทำประตูจากลูกเตะมุม 11 ประตู แม้น้อยกว่าเดิมเมื่อเทียบกับฤดูกาลที่แล้ว แต่ก็มากสุดในฤดูกาลนั้น

ขณะที่ แมนฯ ซิตี ก็เห็นจุดบกพร่องลูกตั้งเตะของตัวเอง เพราะจากที่เคยทำประตูจากเตะมุมได้เพียง 6.3 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูกาล 2018-19 พวกเขายกระดับขึ้นมาด้วยการใช้โค้ชลูกนิ่ง นิโคลัส โจเวอร์ (ปัจจุบันอยู่กับอาร์เซนอล) และเพิ่มอัตราส่วนประตูจากลูกเตะมุมเพิ่มขึ้นเป็น 7.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019-20 และ 10.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020-21

มิเกล อาร์เตตา กุนซืออาร์เซนอล ก็เหมือนกัน โดยฤดูกาลก่อนที่ โจเวอร์ จะย้ายมา อาร์เซนอล มีสถิติทำประตูจากลูกเตะมุมแย่ที่สุดเป็นอันดับสองในลีก ทั้งฤดูกาลทำได้แค่ 3 ประตู แต่พอ โจเวอร์ เข้ามา จุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็ง อาร์เซนอล กระโดดขึ้นไปอันดับสามทำได้ถึง 13 ประตู

ส่วนฤดูกาลนี้ ทีมของ อาร์เตตา ยังคงยอดเยี่ยมในลูกตั้งเตะ รั้งอันดับสี่ ทำไปแล้ว 7 ประตู ตามหลัง ลิเวอร์พูล 9 ประตู, สเปอร์ และ ฟูแลม 10 ประตูเท่ากัน ขณะที่เกมรับก็เสียประตูจากลูกเตะมุมแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

กล่าวได้ว่า การที่ทีมใดจะประสบความสำเร็จได้ รายละเอียดต้องถี่ถ้วนเก็บทุกเม็ด รูปเกมก็ไม่ใช่แค่อย่างเดียวที่ช่วยให้เป็นแชมป์ แต่เตะมุมก็ช่วยให้เป็นแชมป์ได้เช่นกัน.