จากเหตุสลดที่เกิดขึ้น ต่อมามีความพยายามปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยการให้บริการรถตู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทั้งการติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) เพื่อควบคุมความเร็ว การจำกัดชั่วโมงทำงานของคนขับเพื่อให้พักผ่อนเพียงพอ แก้ปัญหาหลับใน การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างประตูฉุกเฉิน ค้อนทุบกระจก ไปจนถึงถังดับเพลิง

แต่แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่เกิดความสูญเสียใหญ่ เมื่อ รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง หมายเลขทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ ประสบอุบัติเหตุตกร่องกลางถนน สภาพไฟลุกท่วมคัน บริเวณถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตร (กม.) ที่ 100 ขาเข้ากรุงเทพฯ ต.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 11 ราย 

หลังเหตุการณ์มีคำถามมากมายถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้ที่ “ยกเครื่อง” จัดระเบียบไปแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาตรการให้โละรถตู้เก่าเกิน 10 ปี การปรับเปลี่ยนมาใช้รถมินิบัสแทนรถตู้ในเส้นทางข้ามจังหวัด เข้มงวดคาดเข็มขัดนิรมัยทุกที่นั่ง มาจนถึงผลพวงอุบัติเหตุบ้านบึง ที่เพิ่มมาตรการจำกัดที่นั่งเหลือ 13 ที่นั่ง มีช่องทางออกท้ายตัวรถ เพื่อเพิ่มช่องทางเดิน ลดความสูญเสียกรณีมีเหตุฉุกเฉิน จำกัดชั่วโมงทำงานผู้ขับขี่แก้ปัญหาหลับใน ติดจีพีเอสจำกัดความเร็วรถ

แต่เหตุใดยังมีอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสาร?

“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถาม นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ซึ่งชี้ให้เห็นช่องโหว่น่าสนใจที่ยังเป็นปัญหาของรถตู้โดยสารปัจจุบัน โดยเฉพาะรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง ที่ยังวิ่งในเส้นทางไกลได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดเหตุซึ่งเป็นรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง หมวด 30 สะท้อนถึงการใช้รถตู้ “ผิดประเภท” ที่ยังมีให้เห็นอยู่

ตามหลักการรถตู้โดยสารประจำทางจะอยู่ในหมวด 10 ส่วนรถตู้โดยสารไม่ประจำทางอยู่หมวด 30 การใช้รถผิดประเภทโดยให้รถโดยสารไม่ประจำทางวิ่งรถเหมือนรถโดยสารประจำทาง ถือเป็นความเสี่ยง เนื่องด้วยลักษณะการใช้งานของรถตู้ที่ตามไม่ได้เหมาะกับการขนคน หรือการวิ่งระยะทางไกล เมื่อเกิดเหตุมักมีความเสียหายรุนแรง 

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารถตู้โดยสารประจำทางที่วิ่งระยะทางไกล ส่วนใหญ่ปรับเป็นรถมินิบัสเกือบหมดแล้ว เพราะปลอดภัยกว่าโดยเฉพาะหากเกิดเหตุ การช่วยเหลือจะเข้าถึงได้ดีกว่า แต่ในข้อเท็จจริงยังมีรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง และรถตู้บุคคลที่ถูกเหมาหรือนำมาวิ่งในระยะทางไกลแบบไม่ประจำทาง ซึ่งมองว่าไม่เพียงในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ แต่ในจังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะประสบปัญหาใช้รถตู้โดยสารผิดประเภทเช่นเดียวกัน

ข้อสันนิษฐานอาจมาจากหลายปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเข้าถึง หรือเลือกใช้บริการแม้จะมีความเสี่ยง เช่น ขนส่งประจำทางเต็ม มีจำนวนไม่เพียงพอ หรือผู้โดยสารไม่อยากเดินทางไป บขส. เพราะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า หรือในช่วงเทศกาลที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง หมวด 30 และรถตู้บุคคล จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกช่วงเวลานั้น 

ผู้จัดการ ศวปถ. ตั้งข้อสังเกตว่า ปกติเส้นทางสายยาวควรนั่งรถใหญ่ แต่หากเจาะไปที่ระบบก็ยังไม่คำตอบ มีแต่คำถามว่าทำไมผู้โดยสารเลือกไปนั่งรถเล็ก ทำไมในจังหวัดพื้นที่ไกลๆ ประชาชนไม่เลือกนั่งรถใหญ่ หรือมีรถใหญ่เป็นทางเลือก หรือเพราะไม่สะดวก เที่ยววิ่งน้อย หรือราคาแพง เลยเลือกรถตู้ราคาถูกกว่า

ทั้งหมดนี้ นำไปสู่โจทย์ที่ต้องแก้ไขให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะการจำกัดไม่ให้รถตู้โดยสารไม่ประจำทางวิ่งระยะไกลเกิน มีการเหมารถตู้เดินทางข้ามภาคอย่างอิสระ

ประเด็นนี้ย้ำว่าต้องเปลี่ยนที่ผู้โดยสารด้วย เพราะตราบใดที่ยังมองความสะดวกในการเช่ารถตู้โดยสารไม่ประจำทางไปวิ่งเส้นทางไกล แทนที่จะเหมารถมินิบัสเพราะคันใหญ่เกินไป เมื่อยังมี demand จากผู้โดยสารทำให้ยังมี supply อยู่

อีกโจทย์ต้องทำควบคู่กันคือ ระบบการเดินทางภาพรวม ฝากว่าหากรัฐทำให้ระบบคมนาคมพื้นฐานแข็งแรง ทั้งระบบรางอย่างรถไฟ รถประจำทางที่เพียงพอ จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกับประชาชนมากขึ้นด้วย.             

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]