รายงานเผยแพร่ในวารสาร PLOS Pathogens journal บอกว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ ใช้วิธีการแบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินออกมาว่า SARS-CoV-2 อาจปรากฏขึ้นมาครั้งแรก ในช่วงต้นเดือนต.ค. ถึงกลางเดือนพ.ย. 2562 แต่ถ้าให้เจาะจงวันเวลาลงไปจะเป็นวันที่ 17 พ.ย. 2562 และอาจเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเดือนม.ค. 2563

ส่วนทางการจีนประกาศเป็นทางการ เรื่องการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนธ.ค. 2562 โดยเชื่อมโยงกับตลาดขายอาหารทะเลฮัวหนาน ในเมืองอู่ฮั่น

IFrame

Wall Street Journal

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบเชื้อไวรัสครั้งแรกนั้น ยังไม่ทราบเช่นกันว่าเกี่ยวโยงกับอู่ฮั่นได้อย่างไร จึงตีความเอาว่า ไวรัส SARS-CoV-2 อาจระบาดอยู่ก่อนที่จะไปถึงตลาดขายอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่นก็ได้

รายงานร่วมของทางการจีนกับองค์การอนามัยโลก เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่า อาจมีการระบาดจากคนเป็นระยะ ๆก่อนไปถึงอู่ฮั่น

รายงานเตรียมตีพิมพ์ของเจสซี บลูม แห่งศูนย์วิจัยมะเร็ง เฟรด ฮัทชินสัน ในเมืองซีแอตเทิล ได้กู้ข้อมูลต่อเนื่องที่ลบไปก่อนหน้าจากการระบาดช่วงแรก ๆ ในประเทศจีน ซึ่งข้อมูลนั้นแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างที่เก็บมาจากตลาดขายอาหารทะเลฮัวหนาน ไม่ตรงกับไวรัส SARS-CoV-2 ไปเสียทั้งหมด และมีการกลายพันธุ์จากต้นกำเนิดที่ระบาดไปก่อนหน้า กระจายไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ในจีนด้วย

สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐยืนยันว่า ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ถูกส่งไปที่ชีวสารสนเทศฐานข้อมูล (SRA) เมื่อเดือนมี.ค. 2563 ต่อมาก็ถูกลบไปตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่สอบสวนจีน อ้างว่าจะปรับปรุงข้อมูลให้ใหม่ แล้วต้องส่งไปเก็บที่ฐานข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง

กระแสโจมตีจึงชี้ว่า การที่จีนลบข้อมูลยิ่งเป็นหลักฐานชี้ว่า จีนพยายามปกปิดต้อตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อลินา ชาน นักวิจัยแห่งสถาบันบรอด ของฮาวาร์ด บอกว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์ต้องขอให้ฐานข้อมูลระหว่างประเทศลบข้อมูลสำคัญที่จะบอกเราได้ว่า โควิด-19 เริ่มระบาดในอู่ฮั่นได้อย่างไร

ส่วนรายงานวิจัยอีกฉบับของนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสารรายงานวิชาการ โดยใช้ข้อมูลจีโนมิก เพื่อแสดงว่าไวรัส SARS-CoV-2 เกี่ยวข้องกับคนรับเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสได้ปรับตัวให้เข้ากับคนได้ ตอนที่พบการระบาดครั้งแรก

นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีสัตว์ที่ไม่ได้ระบุชนิดอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะใกล้เคียงในการทำหน้าที่เป็นสายพันธุ์ตัวกลาง แต่ข้อสมมติฐานว่า เชื้อไวรัสอาจหลุดรอดออกมาจากห้องทดลอง ก็ยังทิ้งไปไม่ได้

โดมินิก ไดเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อ ของโรงพยาบาลเวสต์มีด ซึ่งอยู่ในทีมสอบสวนขององค์การอนามัยโลก ที่เดินทางไปเมืองอู่ฮั่นในปีนี้ด้วย บอกว่า เมื่อแน่ชัดว่าไวรัสอาจมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงคนผู้รับเชื้อ นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นเชื้อไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้น ข้อสรุปเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สจวร์ต เทอร์วิลล์ แห่งสถาบันเคอร์บี หน่วยงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศออสเตรเลีย บอกว่า เรายังต้องการตัวอย่างเซรุ่ม เพื่อทดสอบและให้ผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสโควิด-19 แต่โชคไม่ดีที่มีกระแสกดดันในข้อสมมติฐานว่า ไวรัสเล็ดรอดออกมาจากห้องทดลอง และประเด็นอ่อนไหวเรื่องการติดตามงานวิจัยในประเทศจีน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง.

—————–
สังคมโลก : เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS